CP จับมือกว่างซีทุ่มหมื่นล้าน ผุดนิคมจีนในEEC-ลุ้นEIAผ่าน8เดือน

ซี.พี.ลงทุนนิคมจีน - เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีพิธีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในพื้นที่อีอีซี

CP จับมือกว่างซี ทุ่มหมื่น ล.ผุดนิคมจีนใน EEC หวังกวาดนักลงทุนอุตฯไฮเทคเร่งทำ EIA ใน 8 เดือน เดินหน้าก่อสร้างเฟสแรกไตรมาส 1 ปี นำร่อง 900 ไร่ รองรับ 80 โรงงาน

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (CG) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC) ภายใต้บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (CG) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50% บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป, ไชน่า ที่ถือหุ้น 48% บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ยีอาน (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นอีก 2% ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท

ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งจะใช้เวลา 8 เดือน จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/2562 รองรับโรงงาน 80 แห่ง รวมถึงโรงงานสำเร็จรูปเพื่อเช่าอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับโครงการลงทุนครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกเริ่มไตรมาส 1/2562 พื้นที่ 900 ไร่ เป็นการเริ่มก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างระบบ ถนน ระบบระบาย/บำบัดน้ำ เตรียมพื้นที่สำหรับการเช่า/ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมี 2 ขนาดคือ เล็ก 20 ไร่ และใหญ่ 50-100 ไร่ และในระหว่างนี้จะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในนิคม โดยมีการหารือกับพาร์ตเนอร์โรงงานผู้ผลิตไฟฟ้าไว้แล้วบางราย แต่ในเฟสนี้ยังคงต้องซื้อไฟจากภาครัฐก่อน

ส่วนเฟส 2 ในปี 2563 พัฒนาพื้นที่ 700 ไร่ และเฟส 3 จะเริ่มในปี 2564 และจะสามารถขาย/เช่าพื้นที่ทั้งหมดในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นสูงถึง 60,000 ล้านบาท เป็นส่วนของบริษัทที่ต้องใช้ลงทุนรวมทั้งหมด 3 เฟสประมาณ 10,000 ล้านบาท

ในวันที่ 25 ส.ค. 2561 นี้ จะบันทึกความเข้าใจในข้อตกลง (MOU) เพิ่มเติมโครงการร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองประเทศไทย ระหว่างบริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มบริษัทก่อสร้างของมณฑลกว่างซีประเทศจีน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งจะเป็นการประกาศเริ่มโครงการอย่างชัดเจน

นายสุนทรกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นนักลงทุนจากมณฑลกว่างซี และเตรียมขยายไปยังกลุ่มนักลงทุนเซี่ยงไฮ้เพิ่ม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงปลอดมลพิษ โดยเลือกโรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอุตสาหกรรมที่เป็นไฮเทคโนโลยี ไม่สร้างมลพิษจากหน่วยงานจีนเท่านั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งจีนมีศักยภาพ เห็นได้จากบริษัทซีเมนต์มีการลงทุนในจีนถือเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับที่นโยบายไทยจะเป็นเมดิคอลฮับอาเซียน นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

โดยใช้จุดแข็งจากการที่มีเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกันมานาน และจุดเด่นของพื้นที่ที่มีความพร้อมใกล้ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) รองรับ ขณะเดียวกัน บริษัทเลือกประเภทอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมใหม่ที่ตั้งใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกขายทั่วอาเซียนได้ เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก

นอกจากการลงทุนในครั้งนี้แล้ว บริษัทยังจะใช้โอกาสจากนโยบายรัฐที่ได้กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มอีกในอนาคต แต่จะยังคงใช้ที่ดินที่มีอยู่ของบริษัทแม่คือ ซี.พี.เป็นพื้นที่ลงทุนเป็นหลัก ส่วนการเพิ่มทุนคาดว่าจะพิจารณาหลังจากเริ่มดำเนินการเฟสแรกไปแล้ว

ทั้งนี้ ซี.พี.แลนด์เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ดำเนินการในธุรกิจนิคมเมื่อ 6 ปีก่อน เริ่มจากการรวบรวมที่ดิน เตรียมพื้นที่ และร่วมดำเนินงานกับ กนอ. กระทั่งเกิดการร่วมทุนตั้งบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (CG) ครั้งนี้ขึ้นมา

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา) กล่าวว่า นิคมดังกล่าวได้ประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ตามแพ็กเกจ EEC สามารถตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติได้ โดยเปิดให้นักลงทุนทุกชาติเข้ามาลงทุนไม่เพียงเฉพาะนักลงทุนจีน แต่ยังมีทั้งไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และยุโรปที่สนใจเช่นกัน

สำหรับพื้นที่โครงการ 3,067 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 2,205 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 443 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 307 ไร่

อย่างไรก็ตาม การลงทุนนิคมจีนครั้งนี้นับเป็นแห่งที่ 2 นับจากที่กลุ่มอมตะได้ลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง แต่ทั้ง 2 นิคมมีจุดเด่นและมีเป้าหมายต่างกัน