สสว.เผยนโยบายรัฐช่วยรายย่อยดัน GDP SMEs แตะ 42.8% เตรียมคัด 154 ราย โชว์ศักยภาพ 7-9 ก.ย.นี้

สสว.ประเมินจากผลงานรัฐบาล 2 ปีนโยบายช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ส่งผล GDP SMEs ไตรมาส 1/62 แตะ 42.8% พร้อมเปิดตัว 154 ตัวแทน Provincial Champions 2018 จากทั่วประเทศ เข้าร่วมแสดงผลงาน และออกร้านจำหน่ายสินค้า “อบ กิน เที่ยว ครบที่เดียว 77 จังหวัด” วันที่ 7-9 กันยายน 2561 ณ ศูนย์การค้า ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ปทุมธานี คาดผลการดำเนินโครงการจะเพิ่มรายได้ให้กับ SME ที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายและออกมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างหนักตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราการเติบโตจากรายได้ของ SMEs หรือ GDP SMEs ไตรมาส 1/2562 ขยับมาอยู่ที่ 42.8% ของ GDP ทั้งประเทศ และคาดว่าจะสามารถขยับขึ้นมาได้อีก 0.5% และแตะที่ 43.3% ในไตรมาส 2/2562

ขณะเดียวกันจากการจัดทำโครงการ SME Provincial Champions ที่ผ่านมา สสว. จึงเตรียมเปิดตัวผู้ประกอบการ 154 รายจากโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศมาออกร้านแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าภายใต้สโลแกน ช้อป กิน เที่ยว ครบที่เดียว 77 จังหวัด ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ปทุมธานี ระว่างวันที่ 7 – 9 กันยายน โดยในงานมีกิจกรรมหลักที่น่าสนใจประกอบด้วย การออกร้านแสดงสินค้าของผู้ประกอบการ การเสวนาเทคนิคการทำธุรกิจในยุค 4.0 การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบกับตัวแทนจากห้างสรรพสินค้าและโมเดิลเทรดรายใหญ่

สำหรับโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน SMEs ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 4 โดยในปี 2561 มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น 1,063 ราย ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 462 ราย (จังหวัดละ 6 ราย) จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ ได้แก่

การฝึกอบรมและประเมินตนเอง เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ ผลของการประเมินตนเองชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่าร้อยละ 60 % มีความต้องการที่จะปรับปรุง ด้านการตลาด รองลงมาคือต้องการปรับปรุงด้านการผลิต นอกจากนั้นส่วนใหญ่ต้องการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจสูงถึงร้อยละ 70 จึงนำไปสู่การจัดทำแผนการพัฒนาและการดำเนินงานในขั้นต่อไป นั่นคือ
การให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแผนการพัฒนาของผู้ประกอบการแต่ละราย อาทิ ด้านการตลาด การผลิต ตลอดจน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น การโค้ชชิ่ง (Coaching) โดยนักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปลดล็อค ข้อจำกัด และผลักดันตัวเองเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะมีการเชื่อมโยงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สู่การผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็นเอกลักษณ์ และมีคุณภาพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ตลอดจนเป็นพลังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป