ภาคเอกชนฟันธงส่งออกปี’61 โต 9% แม้กังวลค่าบาท ดอกเบี้ย และพิษสงครามการค้า

แฟ้มภาพ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานประชารัฐด้านการส่งเสริมการค้า ธุรกิจบริการ และการลงทุนในต่างประเทศ(D4)ครั้งที่ 2/2561 ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกว่า 40 ราย ว่า ได้เชิญภาคเอกชนมาหารือถึงสถานการณ์การส่งออก โดยเอกชนคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2561 เติบโต 9% มูลค่าประมาณ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์บนพื้นฐานการส่งออกในแต่ละภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยส่งออกภาคอุตสาหกรรมปีนี้ขยายตัว 11% และภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป ขยายตัว 5%

สำหรับปัจจัยที่ภาคเอกชนกังวล คือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงการตอบโต้การค้าในประเทศต่างๆที่เริ่มมากขึ้น และฝากให้รัฐบาลดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“ถือเป็นข่าวดีที่ผู้ส่งออกยังมองการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง และคาดการณ์ส่งออกปีนี้จะขยายตัวถึง 9% แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะยังคงคาดการณ์เดิมที่ 8% โดยจะมีการทบทวนอีกครั้ง หลังได้ข้อมูลและประชุมรวมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในเดือนตุลาคมนี้ ว่าจะมีการปรับเพิ่มตัวเลขส่งออกทั้งปีนี้เท่าไหร่ “ นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในเรื่องความกังวลเรื่องราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ก็ได้ให้ข้อมูลใกล้ชิดกับสภาเกษตร และให้ทำความเข้าใจว่าราคาเกษตรขึ้นอยู่กับผลผลิตและความต้องการของโลกด้วย ตอนนี้ผันผวนสูง ทั้งเรื่องผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การเพิ่มผลผลิตของโลก และอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ แต่ไทยก็ยังส่งออกได้แต่มูลค่าอาจลดลง ทั้งปีก็น่าจะยังโตแต่เพียง 2% เท่านั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าทีมเอกชนในคณะD4 กล่าวว่า แนวโน้มส่งออกครึ่งปีหลังยังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง แต่ตัวเลขอาจไม่สูงเท่าครึ่งปีแรก เพราะฐานมูลค่าส่งออกครึ่งปีหลังปีก่อนสูง แต่โดยภาพรวมส่งออกครึ่งหลังปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 7% โดยส่งออกกลุ่มเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 5% และส่งออกภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 9% เมื่อรวมกับส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัว 11% ก็มีโอกาสที่ทั้งปีจะโตได้ 9% มูลค่าประมาณ 257,950 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ที่เอกชนกังวลและอยากให้รัฐบาลดูแล คือ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อไม่กระทบต่อค่าเงินบาท แม้ตอนนี้ค่าเงิยบาทอ่อนค่าลงแต่อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ส่วนเรื่องเทรดวอร์ระยะสั้นยังไม่ได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมหลายชนิดยังส่งออกได้ดี เช่น รถยนต์ ที่ต้องติดตามคือภาคเกษตร ยังไม่ดีขึ้นนัก โดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง “นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประมาณการณ์ส่งออกในปี 2562 ล่วงหน้า เพราะมีหลายปัจจัยยังผันผวน โดยเฉพาะนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมอีก รวมถึงมาตรการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน โดยภาครัฐและเอกชนจะมีการหารือกันอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้