กรมตรวจฯเผยสถานการณ์ทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ไตรมาส 3 พุ่ง 0.36 ล้านล้านบาท

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยแนวโน้มสถานการณ์ทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2561 ผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีรายได้ทั้งสิ้น 0.36 ล้านล้านบาท โดยสหกรณ์ นอกภาคการเกษตรมีรายได้สูงสุด 0.18 ล้านล้านบาท

นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561) ว่า สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจำนวนทั้งสิ้น 11,377 แห่ง ประกอบด้วยสหกรณ์ภาคการเกษตร (เกษตร ประมง นิคม) 3,988 แห่ง สหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ร้านค้า บริการ ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน) 3,242 แห่ง และ กลุ่มเกษตรกร 4,147 แห่ง มีสมาชิกทั้งสิ้น 12.71 ล้านคน หรือร้อยละ 19.18 ของประชากรไทยทั้งประเทศ สหกรณ์ภาคการเกษตรมีสมาชิกสูงสุด 6.83 ล้านคน รองลงมาเป็นสมาชิกสหกรณ์นอกภาคการเกษตร 5.35 ล้านคน และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรสมาชิก 0.53 ล้านคน ทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งสิ้น 3.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2/2561 เล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.82 ส่วนใหญ่เป็นทุนดำเนินงานของสหกรณ์นอกภาคการเกษตร 2.87 ล้านล้านบาท ส่วนสหกรณ์ภาคการเกษตร 0.28 ล้านล้านบาท และทุนดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร 4.48 พันล้านบาท มีการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีมูลค่าทั้งสิ้น 2.27 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจสินเชื่อสูงสุด 1.31 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 57.84 รองลงมาเป็น ธุรกิจรับฝากเงิน 0.79 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 34.74 ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตผล 9.87 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 4.35 ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 6.61 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 2.91 และธุรกิจให้บริการ 3.63 พันล้านบาท หรือร้อยละ 0.16 พบว่าสหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีมูลค่าธุรกิจสูงสุด 1.94 ล้านล้านบาท ส่วนสหกรณ์ภาคการเกษตรมูลค่าธุรกิจ 0.32 ล้านล้านบาท และกลุ่มเกษตรกรมูลค่าธุรกิจ 7.77 พันล้านบาท

ผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีรายได้ทั้งสิ้น 0.36 ล้านล้านบาท โดยสหกรณ์ นอกภาคการเกษตรมีรายได้สูงสุด 0.18 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 49.58 ของรายได้รวมทั้งสิ้น การดำเนินงานมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 0.27 ล้านล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 9.18 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 25.70 ของรายได้ทั้งสิ้น กำไรสุทธิขยายตัวจากไตรมาสที่ 2/2561 เล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.33 โดยสหกรณ์นอกภาคการเกษตรทำกำไรสุทธิสูงสุด 8.78 หมื่นล้านบาท

การบริหารจัดการธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตผล และธุรกิจให้บริการ สามารถดำเนินธุรกิจสร้างมูลค่าทั้งสิ้น 2.27 ล้านล้านบาท มีรายละเอียดแต่ละธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจสินเชื่อ ขยายตัวร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีการดำเนินธุรกิจสินเชื่อมูลค่าทั้งสิ้น 1.31 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 57.84 ของมูลค่าธุรกิจทั้งสิ้น โดยสหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีมูลค่าธุรกิจสินเชื่อสูงสุด 1.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.20 ของมูลค่าธุรกิจสินเชื่อทั้งสิ้น สำหรับสหกรณ์ภาคการเกษตรร้อยละ 7.63 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 0.17

ธุรกิจรับฝากเงิน หดตัวร้อยละ 2.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีการดำเนินธุรกิจรับฝากเงินมูลค่าทั้งสิ้น 0.79 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 34.74 ของมูลค่าธุรกิจรวมทั้งสิ้น โดยสหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีธุรกิจ รับฝากเงินมูลค่าสูงสุด 0.71 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.14 ของมูลค่าธุรกิจรับฝากเงินทั้งสิ้น สำหรับสหกรณ์ ภาคการเกษตรร้อยละ 9.83 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 0.03 ส่วนธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีการดำเนินธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายมูลค่าทั้งสิ้น 6.61 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 2.91 ของมูลค่าธุรกิจทั้งสิ้น โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรมีธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายมูลค่าสูงสุด 5.64 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 85.37 ของมูลค่าจัดหาสินค้ามาจำหน่ายทั้งสิ้น สำหรับสหกรณ์นอกภาคการเกษตรร้อยละ 13.25 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 1.38

ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตผล หดตัวร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตผลมูลค่าทั้งสิ้น 9.87 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 4.35 ของมูลค่าธุรกิจทั้งสิ้น โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรมีการรวบรวมและแปรรูปผลิตผลมูลค่าสูงสุด 8.62 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 87.36 ของมูลค่ารวบรวมและแปรรูปผลิตผลทั้งสิ้น สำหรับสหกรณ์นอกภาคการเกษตรร้อยละ 8.24 และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 4.40

ธุรกิจให้บริการ หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 0.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีการดำเนินธุรกิจให้บริการแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปมูลค่าทั้งสิ้น 3.63 พันล้านบาท หรือร้อยละ 0.16 ของมูลค่าธุรกิจทั้งสิ้น โดยสหกรณ์ภาคการเกษตรมีธุรกิจให้บริการมีมูลค่าสูงสุด 2.39 พันล้านบาท หรือร้อยละ 65.80 ของมูลค่าธุรกิจให้บริการทั้งสิ้น สำหรับสหกรณ์นอกภาคการเกษตรร้อยละ 33.63 และกลุ่มเกษตรกรร้อยละ 0.57

“สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดำเนินธุรกิจมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากภัยธรรมชาติ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคสหกรณ์ไทยในด้านของการลงทุน การออม การบริโภค และภาระการผ่อนชำระหนี้ของสมาชิก จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังทางการเงิน โดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรพิจารณาหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ มีการเชื่อมโยงเครือข่าย จัดหาตลาดกลาง และมีระบบเตือนภัยทางการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทางการเงิน ตลอดจนการวางแผนและบริหารธุรกิจให้เติบโตสร้างความมั่นคงและความเข้มแข็งทางการเงิน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย