เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวไม่หวั่น หลังรัฐบาลลาวตั้ง กก.ตรวจสอบมาตรฐานความมั่นคงเขื่อน
กรณีเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ในโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย สปป.ลาว “แตก” จนรัฐบาลลาวสั่งตั้ง คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีเขื่อนดินเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก กับคณะกรรมการตรวจสอบเทคนิค-คุณภาพมาตรฐานในการก่อสร้างพัฒนาเขื่อน พร้อมสั่งให้ยุติการพิจารณาโครงการก่อสร้างเขื่อนใหม่ ๆ เป็นการ “ชั่วคราว” ส่งผลกระทบโดยตรงกับโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อน กับโครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น
ล่าสุด บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 1 ใน 4 ผู้ถือหุ้นโครงการนี้ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างการประสานกับบริษัท ไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ซึ่งจะต้องรอผลสรุปการตรวจสอบของรัฐบาลลาว “ยังไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาการตรวจสอบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไร”
ด้านนักลงทุนไทยรายอื่น ๆ ที่เข้าไปลงทุนโครงการก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว ต่างก็ต้องรอการตรวจสอบเช่นกัน โดย นางปรียานาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ “นับว่าเป็นสิ่งที่ดี” เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างมาตรฐานในการก่อสร้างแล้ว ยังมีผลทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับกลุ่มนักลงทุน ซึ่งในบางโครงการไม่ได้มีปัญหา ก็จะทำให้สังคมเกิดความมั่นใจมากขึ้น
“ในส่วนของ บี.กริมที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าในลาวก็จะต้องได้รับการตรวจสอบเช่นกัน ซึ่งทางเรามั่นใจว่าระบบการก่อสร้างของ บี.กริม ไม่ได้มีปัญหา โดยระบบการก่อสร้างเป็นแบบพลังน้ำไหลผ่าน แม้ว่าจะต้องอาศัยระยะเวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้โครงการบางส่วนล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผลประกอบการ หรือภาพรวมของ บี.กริม เพราะโครงการลงทุนในลาวเป็นโครงการที่เซ็นสัญญาไปหมดแล้ว อีกทั้งโครงการในลาวก็ไม่ใช่การลงทุนหลักของ บี.กริม เมื่อเทียบกับเวียดนาม” นางปรียานาถกล่าว
ทั้งนี้ บี.กริมมีการลงทุนในลาว 8 โครงการ กำลังการผลิต 102.6 MW ได้แก่ เซน้ำน้อย 2 (6.7 MW)-เซกะตำ 1 (13.4 MW)-น้ำแจ 1 (15 MW)-น้ำคาว 1-5 (75 MW)
ด้าน นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลสั่งให้ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนใหม่เป็นการชั่วคราว เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เขื่อนไฟฟ้าในอนาคต โดยฝ่ายลาวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเขื่อนที่บริษัทลงทุนก่อสร้างทั้ง 2 แห่ง คือ เขื่อนน้ำงึม 2 กับเขื่อนไซยะบุรี ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปรากฏไม่พบข้อบกพร่องหรือจุดชำรุดใด ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยเขื่อนน้ำงึม 2 เปิดให้บริการไปตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว ส่วนเขื่อนไซยะบุรีในปลายปีนี้ก็พร้อมที่จะเดินระบบผลิตไฟฟ้าแล้ว