ค้าต่างประเทศ เผยการระบายข้าวกลุ่ม 2 และ 3 มีผู้สนใจเสนอซื้อสูงสุดรวม10ราย ทำให้การระบายข้าวครั้งนี้เป็นล็อตสุดท้าย

ค้าต่างประเทศ เผยการระบายข้าวกลุ่ม 2 และ 3 มีผู้สนใจเสนอซื้อสูงสุดรวม 10 ราย ทำให้การระบายข้าวครั้งนี้เป็นล็อตสุดท้าย ส่งผลให้การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลหมดแล้ว รวมปริมาณข้าวที่ระบายได้ทั้งหมด 16.91 ล้านตัน มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 2/2561 ปริมาณ 2.45 แสนตัน จำนวน 18 คลัง และข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 2/2561 ปริมาณ 2.23 หมื่นตัน จำนวน 20 คลัง มีผู้เสนอซื้อสูงสุดทั้ง 2 กลุ่มรวม 10 ราย โดยได้เสนอซื้อทั้งหมด 100% ทำให้การประมูลข้าวครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากสามารถระบายข้าวออกไปได้ทั้งหมดแล้วสำหรับข้าวในสต็อกรัฐบาล หลังจากนี้ คณะทำงานจะเร่งสรุปเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ก่อนที่จะเสนอให้ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาต่อไปคาดว่าจะเสนอได้กลางเดือนกันยายน 2561

ทั้งนี้ การเปิดระบายข้าวกลุ่ม 2 ที่ไม่ใช่คนบริโภค ปริมาณ 2.45 แสนตัน มีผู้ผ่านคุณสมบัติ 26 ราย แต่มีผู้เสนอซื้อ เพียง 20 ราย และเมื่อเปิดซองพบว่ามีผู้เสนอซื้อสูงสุดจำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.บจก. มหาทรัพย์ ฟีด 2.บจก. พีเอ วู้ดเพลเลท 3.บจก. ยู อาร์ ซี พาวเวอร์ 4.บจก. กำแพงเพชร เอ็กซ์ปอร์ต และ5.บจก. จิรชัย โปรดิสว์ เสนอซื้อทั้ง 18 คลัง ปริมาณ 2.45 แสนตัน ซึ่งขายได้หมด โดยเสนอราคาอยู่ที่ 6,256-7,092 บาทต่อตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,670 บาทต่อตัน ซึ่งมากกว่าการซื้อที่ผ่านมา 5,587 บาทต่อตัน ขณะที่ มูลค่า ซื้อครั้งนี้ 8,655 ล้านบาท

ส่วนการเปิดระบายข้าวกลุ่ม 3 ที่ไม่ใช่ทั้งคนและสัตว์ ปริมาณ 2.23 หมื่นตัน มีผู้ผ่านคุณสมบัติเสนอซื้อ 16 ราย แต่มีผู้เสนอซื้อ 12 ราย แต่มีผู้เสนอซื้อสูงสุด 5 ราย ได้แก่ 1.บจก. ไท่ผิง เอทานอล 2.บจก. กบินทร์อินทรีย์ 3.บจก. ยู อาร์ ซี พาวเวอร์ 4.บจก. คอฟโค่ ไบโอเคมิคอล (ประเทศไทย) และ5.บจก. เชียงรายกิจศิริไซโล 1995 เสนอซื้อทั้ง 20 คลัง ปริมาณ 2.23 หมื่นตัน โดยขายได้ทั้งหมด สำหรับราคาที่เสนอซื้ออยู่ระหว่าง 1,110-6,000 บาทต่อตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,584 บาทต่อตัน เสนอซื้อสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา 3,449 บาทต่อตัน มูลค่าอยู่ที่ 114 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลครั้งนี้ก็จะเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากขายข้าวได้ทั้งหมดแล้ว ส่วนกรณีที่ข้าวที่มีการทำผิดสัญญา หรือไม่มารับมอบ โดยจะมีปริมาณข้าวคงเหลือเท่าไรนั้น อาจจะต้องรอการสรุปผลตัวเลขจาก องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) อีกครั้ง เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจน จากนั้นก็อาจจะนำเสนอไปที่ประชุม นบข. ในการพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรกับปริมาณข้าวคงเหลือ

“การขายข้าวได้มีการทำสัญญาซื้อขายไปแล้ว 15.915 สัญญา มีการรับมอบไปแล้ว 12.62 ล้านตัน ยังคงเหลือรับมอบ 2.99 ล้านตัน ซึ่งมีข้าวที่บริโภคได้ปริมาณ 6.5 แสนตัน ข้าวส่วนที่เหลือก็จะเป็นข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวเลข ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2561”

นางมนัสนิตย์ กล่าวว่า ทำให้การระบายข้าวภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเริ่มระบายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ปริมาณ 16.91 ล้านตัน ที่เป็นตัวเลขที่ อคส. และ อตก. ส่งตัวเลขให้มาเพื่อให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการเปิดระบาย ซึ่งกรมฯ ก็ดำเนินการระบายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดระบายไปทั้งสิ้น 32 ครั้ง สามารถเปิดระบายข้าวไปได้ทั้งหมดแล้ว มูลค่าที่ได้ 146,176 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมตัวเลขของการระบายข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ที่เปิดระบายออกไปปริมาณ 0.85 ล้านตัน ก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะดำเนินการระบาย ทำให้ระบายข้าวไปแล้วรวม 17.76 ล้านตัน


อย่างไรก็ดี ก็ยังมีตัวเลขส่วนต่างทางบัญชีปริมาณ 9.4 แสนตัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังอยู่ระหว่างการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมฯ เพื่อนำไปพิจารณาในการตรวจสอบต่อไป ซึ่งขณะนี้ จึงยังไม่สามารถสรุปผลได้ในตอนนี้อาจจะต้องรอ ส่วนการส่งออกข้าวของไทย ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2561 ปริมาณ 7.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.67% มูลค่า 3,756 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.42% ขณะที่ การเจรจาซื้อขายข้าวให้จีน แสนที่ 6 กรมฯได้เสนอไปเป็นที่เรียนร้อย ซึ่งก็อยู่ระหว่างจีนพิจารณา ภายในสัปดาห์นี้กรมฯก็จะเร่งติดตามผลต่อไป