ลุ้นสสว.ยุบรวม 2 กองทุน SMEs ปลดล็อกปัญหาคอขวดปล่อยสินเชื่ออืด

ชงบอร์ด สสว. เคาะแนวทางยุบ2 กองทุนช่วย SMEs “ฟื้นฟู-พลิกฟื้น” วงเงิน 1,800 ล้านบาท 30 ส.ค.นี้ ขอดึงแบงก์รัฐช่วยวิเคราะห์พอร์ต SMEs หวังเร่งกระจายสินเชื่อเร็วขึ้น พบที่รับเงินไปแล้ว 17% ใช้ผิดวัตถุประสงค์เตรียมดันเข้าโครงการพัฒนาอีกรอบ ล่าสุด GDP SMEs แตะ 42.8% ลุ้นไตรมาส 2/61 ขยับขึ้นอีก 0.5% แตะ 43.3%

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เปิดเผยว่า วันที่ 30 ส.ค. 2561 เตรียมเสนอแนวทางการยุบรวม 2 กองทุนช่วยเหลือ SMEs ระหว่างกองทุนพลิกฟื้น (วงเงินเหลือ 600 ล้านบาท) และกองทุนฟื้นฟู (วงเงินเหลือ 1,200 ล้านบาท) ให้กับทางคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูพิจารณา โดยแนวทางดังกล่าวจะขอให้ธนาคารภาครัฐเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์คำขอผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อกับ SMEs ได้คล่องและเร็วขึ้น

“ปัจจุบันเกิดปัญหาคอขวดในการวิเคราะห์พอร์ตเพื่อให้สินเชื่อ เนื่องจาก สสว.มีคณะกรรมการเพียง 3 คณะ ซึ่งน้อยเกินไปหากเทียบกับจำนวนคำขอหลายร้อยราย และปัจจุบันมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank หรือ ธพว.) เพียงรายเดียวที่จะเข้ามาเพื่อช่วยวิเคราะพอร์ตสินเชื่อ SMEs ที่เหลือ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อเร่งกระจายเงินไปสู่ SMEs หากเราขยายมีแบงก์รัฐมาช่วย มีช่องทางเพิ่มอีก เปรียบได้กับว่าเรา 300 คณะมาช่วยวิเคราะห์ เพราะเขามีสาขาในต่างจังหวัด SMEs ขอที่นั่นส่งวิเคราะห์ที่นั่นก็จะเร็วขึ้น แต่เราเข้าใจเพราะแบงก์เองก็มีพอร์ตสินเชื่อ SMEs อยู่ ดังนั้น จึงต้องช่วยกันหาแนวทางพร้อม ๆ กับปรับกระบวนการทำงานใหม่ของ สสว.ไปด้วย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุนสามารถปล่อยสินเชื่อให้ SMEs รวม 3,000 ราย โดยในจำนวนนี้ได้รับความช่วยเหลือและมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่องแล้ว 1,000 ราย และพบว่า 41% สามารถนำเงินไปพัฒนาธุรกิจได้ดีขึ้น 42% ธุรกิจยังเดินได้คงเดิม 17% ธุรกิจถดถอยและใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งในจำนวนนี้ สสว.จะนำมาวิเคราะห์และดึงเข้าโครงการเพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ผลักดันให้ได้มาตรฐานของ อย. เป็นต้น

นายสุวรรณชัยกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายและออกมาตรการส่งเสริม SMEs อย่างหนักตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดการณ์ว่า GDP SMEs ไตรมาส 2/2561 จะขยับขึ้นเป็น 43.3% จากไตรมาส 1/2561 ที่ 42.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมช่องทางการค้าผ่านออนไลน์(e-Commerce) การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการขนส่งที่ดีขึ้น ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่ต้นทุนลดลง 10%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อัตราการปรับขึ้น-ลงของดอกเบี้ยขึ้นขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของ SMEs แต่ขณะเดียวกัน ทาง สสว.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงบวกและลบภายใน 2 สัปดาห์จะทราบว่าจะเกิดผลกระทบด้านใดบ้าง และจะต้องรับมืออย่างไร

“ในอดีตเมื่อดอกเบี้ยสะวิงมีผลต่อ SMEs แต่ตอนนี้เราวิเคราะห์มาตลอดกลับพบว่า SMEs ไม่ได้กังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ย หากมียอดขายเพิ่มซื้อมาขายไป ช่องทางการขายที่ออกไปสู่ตลาดใหม่ ๆ และไกลกว่าเดิมมากกว่า ซึ่งในวันที่ 7-9 ก.ย.นี้ทาง สสว.เตรียมเปิดตัวผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาการคัดเลือกในโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด หรือ SME Provincial Champions ทั่วประเทศ 154 ราย ซึ่งจะมาร่วมออกร้านแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าภายใต้สโลแกน ช็อป กิน เที่ยว ครบที่เดียว 77 จังหวัด ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ปทุมธานี และจะมีการเสวนาเทคนิคการทำธุรกิจในยุค 4.0 การเจรจาธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีและผู้ค้าปลีกโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการ SME Provincial Champions เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอีสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ โดยในปี 2561 มีผู้ผ่านการคัดเลือก 462 ราย จากที่สมัครเข้าร่วม 1,063 ราย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรม และประเมินตนเองเพื่อจัดทำแผนการพัฒนาในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 รับคำแนะนำในการปรับปรุงธุรกิจในด้านการตลาด การผลิต ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ท้องถิ่น การโค้ชชิ่ง (coaching) โดยนักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและผลักดันตัวเองเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ