เบรกสหกรณ์เซ็นสัญญา วัดใจนบข.เคาะจำนำยุ้ง

อธ.กรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งเบรก “สัญญาจำนำยุ้งฉาง” หวั่นสร้างความเสียหายระบบข้าวทั้งระบบ ลุ้น นบข.พิจารณาชี้ขาด 24 ก.ย.นี้ ด้านเอกชน “ลังเล” ส่อเค้าล่มแผน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ “ชะลอการตกลงหรือทำสัญญาผูกพันใด ๆ” ในการดำเนินการเช่าฉางโกดังเพื่อเก็บข้าวเปลือกของสถาบันเกษตรกรไว้จนกว่ากรมจะแจ้งแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาในวันที่ 24 กันยายน 2561

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกรมขอให้สหกรณ์รอดูหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการไปก่อน อย่ารีบไปผูกพันก่อนหลักเกณฑ์ออกมา เพราะถ้าทำตามหลักเกณฑ์ไม่ได้จะเกิดข้อพิพาทตามมา ส่วนกรณีที่อาจเกิดความเสี่ยงในการทุจริตของโครงการนี้ตามมา ต้องขอพิจารณาหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการทั้งหมดก่อน

ทั้งนี้ การเช่าฉางดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูกาลผลิต ซึ่งเตรียมจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561 โดยในส่วนของโครงการชะลอฯจะเปิดให้ทำสัญญากู้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561-ก.พ. 2562 และเริ่มชำระคืนใน 1-5 เดือน หรือไม่เกินเดือน ก.ค. 2562 ส่วนโครงการรวบรวมข้าวเปลือกโดยสถาบันเกษตรกรจะเริ่มเบิกเงินกู้ได้ในเดือน ต.ค. 2561-ก.ย. 2562 ชำระเงินภายในเดือน ธ.ค. 2562 โดยมีเป้าหมายรับฝากเก็บข้าวเปลือกนาปี ปี 2561/2562 ปริมาณ 2 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้ วงการค้าข้าวได้มีการหารือถึงแนวทางป้องกันปัญหาจากการที่มีผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในประเทศได้ร่วมมือกับข้าราชการบางหน่วยงาน และสหกรณ์บางแห่งเตรียมการจะใช้ช่องโหว่ของโครงการนี้ โดยอาศัยสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) รวบรวมรับซื้อข้าวเพื่อดูดซัพพลายข้าวเปลือกหอมมะลิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไปถือครองไว้รายเดียว ในรูปแบบการเช่าฝากเก็บในคลังของผู้ประกอบการรายดังกล่าว และอาศัยความหละหลวมของโครงการที่ไม่ได้กำหนดให้มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในการรับฝากและไม่มีบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวเยอร์) เป็นช่องที่จะนำข้าวเปลือกหอมจังหวัด (ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคกลาง) ซึ่งมีราคาถูกกว่าตันละ 2,000 บาท มาสวมสิทธิ์แทน หากดำเนินการสำเร็จจะทำให้ผู้ส่งออกรายนี้มีปริมาณสต๊อกข้าวหอมมะลิ 1 ใน 4 ของผลผลิตของทั้งประเทศ สามารถผูกขาดและกำหนดราคาส่งออกต่ำกว่าผู้ส่งออกรายอื่น และอาจส่งผลกระทบให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในฤดูกาลนี้ปรับตัวลดลงอีก

“ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการสัญญา แต่มีการเรียกผู้ประกอบการรายดังกล่าวมาเข้าร่วมการประชุมระหว่าง ธ.ก.ส. และ สกต.ทั่วประเทศที่จัดขึ้นใน จ.ขอนแก่นจริง โดยไม่มีการเชิญผู้ประกอบการค้าข้าวรายอื่น ๆ ทำให้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติขึ้น เพราะในโครงการนี้ทาง สกต.จะรวบรวมข้าวเสมือนเป็นเกษตรกร และได้รับค่าฝากเก็บจากรัฐบาลที่กำหนดให้ค่าขึ้นยุ้ง 1,500 บาท ซึ่งทาง สกต.จะแบ่งให้เกษตรกร 500 บาท และหักไว้ 1,000 บาท เพื่อไปจ่ายเป็นค่าสีแปรสภาพและค่าเช่าคลังกับโรงสีในอัตรา 600 บาท ในเวลา5 เดือน ซึ่งเท่ากับ สกต.จะเหลือกำไรจากการดำเนินโครงการ ตันละ 400 บาท หากรับ 2 ล้านตัน มีกำไร 800 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นผู้ประกอบการรายนี้จะรับข้าวประมาณ 100,000 ตัน ส่วนที่เหลืออาจจะดึงเครือข่ายโรงสีทางภาคกลางที่เคยร่วมโครงการรับจำนำข้าวข้ามเขตในอดีตมาร่วมด้วย แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวทำให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวลังเลว่าจะทำสัญญากับโครงการนี้ดีหรือไม่ และขึ้นอยู่กับว่า นบข.จะยังดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่”


อย่างไรก็ตาม โรงสีกังวลว่าประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อโรงสี ซึ่งมักจะถูกนำไปโยงกับโครงการภาครัฐจึงออกมายับยั้ง