การพัฒนาที่ยั่งยืน : จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นจริง (จบ)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย จิราภรณ์ แผลงประพันธ์ ชาคร เลิศนิทัศน์ TDRI

แนวคิดการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อการพัฒนา เริ่มขึ้นในปี 2545 จากการประชุมผู้นำโลกที่มอนเตร์เรย์ ซึ่งในครั้งนั้นได้เกิดข้อตกลงพันธกิจว่า ประเทศร่ำรวยจะจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน ร้อยละ 0.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ในปี 2554 ได้มีการประชุมอีกครั้งที่ ประเทศกาตาร์ กลุ่มประเทศร่ำรวยยังคงประกาศยึดฉันทามติมอนเตร์เรย์

แม้ว่าในช่วงนั้นจะเกิดภาวะวิกฤตซับไพรม การประชุมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นที่กรุงแอดดิส อาบาบา ในปี 2558 ได้เริ่มมีการพูดคุยว่า การระดมทุนเพื่อการพัฒนามีความหมายกว้างกว่าการระดมทรัพยากรทางการเงิน เช่น การลงทุนในวัยเด็ก การระดมทุนเพื่อการพัฒนาและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา จึงแตกต่างจากรูปแบบการระดมทุนเพื่อการพัฒนาแบบเดิม ที่เน้นให้ประเทศร่ำรวยและองค์กรระหว่างประเทศให้การช่วยเหลือประเทศยากจน

โดยภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อการพัฒนา ประกอบไปด้วย7 สาขาปฏิบัติการ ได้แก่ (1) แหล่งเงินทุนของภาครัฐภายในประเทศ (2) การประกอบธุรกิจและการระดมทุนภาคเอกชนภายในประเทศและระหว่างประเทศ (3) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (4) การค้าระหว่างประเทศในฐานะตัวขับเคลื่อนการพัฒนา (5) หนี้และการบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน

(6) การแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับระบบ และ (7) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการสร้างศักยภาพ นอกจากนี้ กรอบการระดมทุนเพื่อการพัฒนา ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการติดตาม และการสร้างความรับผิดชอบแก่ทุกภาคส่วนในสังคมอีกด้วย

TDRI ได้รับมอบหมายจากสำนักงานสถิติแห่งชาติให้ศึกษากรอบกลไกในการติดตามและวัดผลการระดมทุนสำหรับประเทศไทย

ผลการศึกษาเสนอให้ FfD อยู่ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเสนอให้อนุกรรมการชุดที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนและกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับประเทศ ทำหน้าที่จัดทำแผนระดมทุนเพื่อการพัฒนาด้วย และให้อนุกรรมการชุดที่สามซึ่งจะเก็บรวบรวมตัวชี้วัดที่ได้รับมอบหมายทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลติดตามการพัฒนาของประเทศ

การระดมทุนเพื่อการพัฒนา (FfD) เป็นการ “เติมเต็ม” เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะหากต้องการที่จะบรรลุ SDGs ย่อมต้องการ “ทุน” เพื่อมาสนับสนุน