ยังไม่ยอมแบน”พาราควอต” แค่ห้ามใช้พท.ปลูกผัก-ไบโอไทยฟ้องศาล

ต่อเวลาไปอีก บอร์ดกรรมการวัตถุอันตราย ให้แบน 3 สารเคมี”พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต” เฉพาะพื้นที่ปลูก “พืชผักสวนครัว-สมุนไพร” ขณะที่ “พืชเศรษฐกิจ” ยาง-มัน-ปาล์ม-ข้าวโพด-อ้อย ยังใช้ต่อไปได้เท่าที่จำเป็นพร้อมโยน “กรมวิชาการเกษตร” ออกมารับหน้าเสื่อกำหนดมาตรการสุดเข้ม ควบคุมจำหน่าย จำกัดปริมาณนำเข้า หาสารทดแทน แต่ทางไบโอไทยไม่เอาด้วย เดินหน้าฟ้องศาลปกครองขอให้แบนทันที

หลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีนายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีมติให้ “ยกเลิก” และ “ห้าม” การนำเข้าสารเคมีพาราควอต (สารเคมีฆ่าหญ้า) กับคลอร์ไพริฟอส (สารเคมีฆ่าแมลง) มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 พร้อมกับให้ “ควบคุม” การใช้สารเคมีไกลโฟเสต

และให้ยุติการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง3 รายการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิงนั้น ปรากฏมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯชุดดังกล่าวแทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมีมติไม่ยอมยกเลิก (แบน) การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ แต่ให้ “จำกัด” การใช้แทน ท่ามกลางความสงสัยของผู้เกี่ยวข้องถึงอันตรายจากการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ประเภท จนล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความห่วงใยและให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้แล้ว

ล่าสุด นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งล่าสุดว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรเสนอแนวทางการใช้ 3 สารเคมี โดยมีมติให้ “ยกเลิก” การใช้สารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิดดังกล่าวในพื้นที่ปลูกพืชผัก-สมุนไพร-พื้นที่ต้นน้ำ-พื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงเรียน, สนามกอล์ฟ, บ้านเรือน ส่วนสารเคมีพาราควอตกับไกลโฟเสตยังคงใช้มาตรการ “จำกัดการใช้” ในพืชเศรษฐกิจ (ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-อ้อย-ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน-ไม้ผล) ต่อไป

รวมถึงสามารถใช้สารเคมีคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผลไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น ซึ่งมติดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ภาพรวมทุกมิติ ทั้งมาตรการกำกับที่มีอยู่ ความเป็นอันตราย ข้อมูลการเกิดสารตกค้างจากโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงสารทดแทนและราคา ไปจนถึงอุตสาหกรรมยาง-น้ำตาล เห็นว่า

“ปัญหาหลักไม่ใช่มาจากตัวสาร แต่มาจากวิธีการจัดการ ความเข้มงวดกฎหมาย ผู้ใช้ขาดความรู้ ดังนั้นการห้ามใช้อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรง และการยกเลิกในทันทีจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ใช้” โดยจะเริ่มดำเนินการตามมตินี้ใน 90 วัน

ขณะที่นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เสนอและทำหน้าที่ออกมาตรการควบคุมทั้งสถานที่จำหน่ายร้านที่ได้รับใบอนุญาต ห้ามใช้ในสถานที่ปลูกพืชผักสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำเข้าให้ลดการนำเข้าและต้องแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จำกัดการนำเข้า ลดการนำเข้า และผู้ขายทั้ง 3 สาร ต้องจำหน่ายโดยตรงพื้นที่ปลูก ห้ามโฆษณา พร้อมทั้งแผนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสามารถลดหย่อนภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร โดยจะมีหน่วยงานสารวัตรเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการทางกฎหมายหากพบการกระทำผิด

ด้านนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมการใช้ คำนึงถึงความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้ใช้ แต่ยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก ผู้ประกอบการหลายรายไม่มั่นใจในทิศทางของภาครัฐ แต่ก็ได้ให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการชะลอต่อใบอนุญาตและลดการนำเข้าให้มากที่สุด ประกอบกับปีนี้สภาพอากาศแปรปรวน จึงค่อนข้างประเมินการใช้ลำบาก รวมถึงสต๊อกคงค้างยังเหลือ แต่หลังจากนี้จะได้มีการหารือถึงแนวทางดำเนินธุรกิจร่วมกับสมาชิกสมาคม พร้อมกับติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายและรัฐบาลไม่สามารถชี้ขาดให้ “แบน” พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต แม้จะมีผลการพิสูจน์แล้วว่า ทั้ง 3 สารเคมีเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน เมื่อเป็นดังนี้ทางเครือข่าย 700 องค์กรทั่วประเทศ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้พิจารณาระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 สาร ส่วนประเด็นการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าปีที่แล้วนั้น มองว่าอาจจะมีการหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนหรือไม่อย่างไร เพราะในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรยังหาซื้อสารเคมีเหล่านี้ได้ตามปกติ ส่วนกรณีพื้นที่ที่ห้ามใช้ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นทางเครือข่ายมูลนิธิชีววิถียังคงยืนยันว่า รัฐบาลจะต้องสั่ง “แบน” ทั้งหมดทุกพื้นที่จึงจะถูกต้อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรควบคุมทะเบียนใบอนุญาตนำเข้า ผลิต จำหน่ายทั้งหมดจากข้อมูลการนำเข้าย้อนหลัง 3 ปี ปรากฏการนำเข้าลดลง 40% โดยครึ่งปีแรก 2561 การนำเข้าพาราควอตลดลงกว่า 50% ปริมาณ 16,832 ตัน

ขณะที่นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายการทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ประเทศไทยจะต้องไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชทุกประเภท และต้องทำให้สำเร็จในขณะดำรงตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่