กรมส่งเสริมสหกรณ์หวั่นออมทรัพย์ เสี่ยงขาดสภาพคล่อง เหตุเงินฝากธนาคารต่ำ-แนวโน้มลูกหนี้ผิดนัดแนะทำแผนรองรับความเสี่ยง หลังซื้อหุ้นกู้เอกชนระยะยาว

นายพิเชิษฐ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความคืบหน้าการกำกับดูแลสหกรณ์ ได้พิจารณาปัญหาของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด(ชสอ.) เรื่องเงินสดและเงินฝากธนาคารต่ำ รวมทั้งหลักทรัพย์มากกว่า 80% ติดภาระค้ำประกัน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสภาพคล่องได้ รวมไปถึงการจัดหาเงินมาชำระหนี้สถาบันการเงินที่ชสอ.กู้มา ซึ่งจะถึงกำหนดชำระใน อีก 3 เดือน จำนวน 14,209 ล้านบาท อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชสอ.แก้ปัญหาโดยการระดมทุนเรือนหุ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ควรระวังภาระค่าใช้จ่าย เรื่องเงินปันผลที่จะต้องจ่ายมากขึ้นตามมา

“ในส่วนของสินทรัพย์ ปัจจุบัน ชสอ. ปล่อยเงินกู้แก่สหกรณ์สมาชิกมากกว่า 70% ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เห็นว่าควรระมัดระวังเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของสหกรณ์สมาชิก โดยคุณสมบัติหรือวิธีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้มีความรอบคอบมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระเพิ่มมากขึ้น “

ดังนั้นควรมีการจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ไม่ปกติทั้งความเสี่ยงสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านตลาด และการประเมินนโยบายในการจัดหาและใช้เงินไปของแหล่งทุนเพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์ มีความมั่นคงและเป็นที่พึ่งสหกรณ์สมาชิกได้

“ควรจะมีการตรวจสอบวิธีการพิจารณาสินเชื่อของ ชสอ. ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่าสหกรณ์สมาชิกที่ ชสอ. ได้ให้เงินกู้ไปนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ชสอ. ได้กำหนดไว้ทุกสหกรณ์หรือไม่ ซึ่งการผิดชำระหนี้นั้นจะส่งผลถึงการดำเนินงานและสภาพคล่องของชสอ. นอกจากนี้ควรมีการประเมินความเหมาะสมของสัดส่วนการปล่อยกู้ระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ ชสอ. มีทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานมากขึ้น”

ทั้งนี้ในเรื่องของการใช้สินทรัพย์เพื่อลงทุนสหกรณ์ได้ลงทุนตามหลักเกณท์ พระราชบัญญัติ(พรบ.) สหกรณ์ พ.ศ.2542 และประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ(คพช.)เรื่องกำหนดการฝากและการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ พ.ศ. 2558 โดยหลักทรัพย์ที่ ชสอ.ลงทุนส่วนมากคือ หุ้นกู้ของภาคเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สหกรณ์ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้การประเมินผลก่อนการลงทุนอาจผิดพลาด และแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีเรตติ้งดี จากบริษัทจัดเรตติ้งที่ได้รับความน่าเชื่อถือ แต่หุ้นกู้ที่ชสอ.ซื้อไม่ได้รับประกันว่าผลการดำเนินการในอนาคตจะดีเหมือนเดิมหรือไม่

“ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางปฏิบิตัที่ชัดเจนในการแก้ไขการดำเนินการของสหกรณ์ในเรื่องนี้ รวมถึงการลงทุนในหุ้นกู้นั้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนนระยะยาว ที่ปัจจุบันในตลาดโลกมีแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีความเสี่ยงที่หุ้นกู้ที่สหกรณ์ลงทุนนั้นมีมูลค่าลดลง”

นอกจากนี้หลักทรัพย์ของสหกรณ์ส่วนใหญ่มีการนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ทำให้การไถ่ถอนหลักทรัพย์นั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งกรณีเกิดภาวะวิกฤตมูลค่าหุ้นกูลดต่ำลงนั้น ถ้าชสอ. ไม่มีสภาพคล่องในการไถ่ถอนหลักทรัพย์ อาจจะทำให้การลงทุนของสหกรณ์ขาดทุนได้ หรือกรณีที่เกิดภาวะวิกฤต และสหกรณ์ต้องการสภาพคล่องในการดำเนินงานแม้จะมีวงเงินเบิกเกินบัญชี แต่ภาระดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (5 ก.ย.) เวลา 13.00 น. นายพิเชิษฐ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเเถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวร่วมกับประธานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์