มิลค์บอร์ดตัดสิทธิ์ 5 ราย หลังพบ”อีโคไล”ปนนมโรงเรียนหวั่นเด็กท้องเสีย ตัดโควตาสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จ.ประจวบฯ

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค. ) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด ) เปิดเผยว่า มิลค์บอร์ด ได้ลงโทษเกษตรกรได้รับโควต้านมปี 2560 เทอมที่ 1 จำนวน 5 ราย เนื่องจากพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในนมที่ส่งหนักเรียนดื่ม ในจำนวน 5 ราย 1 รายตัดสิทธิ์โควตาทั้งหมด เนื่องจากกระทำผิด 2 ครั้งติดต่อกัน และ อีก 4 รายเพิ่งพบครั้งแรก ตัดสิทธิ์ปริมาณ 25% ของโควตาที่ได้รับจัดสรรจำนวนผู้ถูกลงโทษ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากตลอดปีการศึกษา 1 และ 2 /2559 มีผู้ถูกลงโทษสูงถึง 21 ราย จากผู้ประกอบการทั้งหมด 67 ราย โดย 10 รายเป็นการพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค 6 ราย องค์ประกอบน้ำนม ไม่ได้มาตรฐาน และอีก 5 ราย เป็นสาเหตุอื่นๆ อาทิ การลักลอบขายที่ประเทศกัมพูชา สถานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ควบคุมอุณหภูมิน้ำนมให้ได้มาตรฐาน

สำหรับการรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนในเทอม 1 ปี 2560 มิลค์บอร์ดได้ออกมาตรการควบคุมกำกับดูแลการบริหารจัดการและคุณภาพน้ำนม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีกาศึกษา 1 /2560 โดยได้ทำการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ได้รับโควต้าทั่วประเทศ 66 ราย โดย 5 รายที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย 1.สหกรณ์โคนมไทย – เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2.สหกรณ์โคนมอุดรธานี จำกัด 3.สหกรณ์โคนมเขาขลุง ราชบุรี จำกัด 4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตาก 5.บริษัท แมรี แอน แดรี โปรดักส์ จำกัด จ.ราชบุรี

“การตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียน ตามมาตรฐานมิลค์บอร์ด ต้องทำทุกเดือน ล่าสุดเมื่อ พบเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ซึ่งถือเป็นเชื้อโรคร้ายแรงปนเปื้อนในนม ทำให้เด้กท้องเร่วงได้ จึงสั่งลงโทษสหกรณ์โคนมไทย – เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัดโดยตัดสิทธิ์โควต้าทั้งหมด ส่วน 4 บริษัทที่เหลือ ถูกตัดสิทธิ์ 25% ของโควต้าที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากเป็นเพียงองค์ประกอบนมไม่ได้มาตรฐาน และพบเชื้อโรคที่ไม่ร้ายแรง รวมทั้งเป็นเพียงการกระทำผิดครั้งแรกเท่านั้น”

นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ถือเป็นโครงการที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้สั่งการให้มิลค์บอร์ด กรมปศุสัตว์ อ.ส.ค. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งยกระดับมาตรฐานนมโรงเรียนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการตรวจสอบผู้ประกอบการนมโรงเรียน ก็พบว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น องค์ประกอบน้ำนม มีมาตรฐานที่สูงขึ้น และพบผู้ประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐานน้อยลง เมื่อคุณภาพนมดีขึ้นก็จะทำให้เด้กเยาวชนไทยได้กินนมที่ดีตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล