“เส้นทางเศรษฐี” จัดใหญ่ระดมกูรูแนะทางรอดเอสเอ็มอีไทยยุค 4.0 สู่โกลบอลเอสเอ็มอี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ทางกองบรรณาธิการนิตยสารเส้นทางเศรษฐี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา ทางเลือก-ทางรอด SMEs ยุค 4.0 ขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมทั้งนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นายวรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) นางประภัสรา เนาวบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักงานสาขากรุงเทพมหาคร ฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่อ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยการเสวนา SMEs Talk หัวข้อ “ดราม่า SMEs ไทย !โตหรือตาย ….ใครจะรู้”

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนบริษัทจดทะเบียนธุรกิจในแต่ละเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000- 6000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 98% เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะเดียวกันมีเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเลิกกิจการ 95% ของจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการในแต่ละเดือนซึ่งมี 1,300 – 1,400 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพว่าเอสเอ็มอีไทยเป็นธุรกิจที่เกิดง่ายและตายง่าย

“เส้นทางเศรษฐีเป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย จึงทำให้เกิดมีงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มสัดส่วนให้เอสเอ็มอีที่สามารถเติบโตยั่งยืนได้มากกว่านี้เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เสริมแกร่ง SME สู่ Global SME” ในงานสัมมนา ทางเลือก-ทางรอด SMEs ยุค 4.0 ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่เกิดง่ายตายง่าย มีวงจรชีวิตของธุรกิจ (ไซเคิล) เฉลี่ย 3-5 ปีเท่านั้น เพราะเอสเอ็มอีคือคนตัวเล็กที่เกิดมาจากการขาดแคลน ทั้งเงินทุน ความสามารถในการบริหาร ขาดทีมงานที่เก่งที่จะเข้ามาช่วย แต่เอสเอ็มอีมีหัวใจที่แข็งแกร่ง ที่จะต่อสู้ให้ธุรกิจอยู่รอดได้ถึงแม้ทุนจะไม่มีประสบการณ์จะน้อย แต่ก็พยายามฉกฉวยโอกาสเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก

“เอสเอ็มอีถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของเศรษฐกิจ ฉะนั้น ทำอย่างไรจะทำให้เอสเอ็มอีสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ประมาณ 5-10% ไม่ใช่เกิดง่ายเกิดง่ายตายง่าย แต่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่หวานลงไปเพื่อค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศ”

แนวทางที่สำคัญคือการพัฒนาเอสเอ็มอีให้อยู่รอดและเติบโตท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น จะต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพัฒนา ไปสู่โกลบอลเอสเอ็มอี (Global SMEs) โดยอาศัยการสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไม่ใช่มองเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นว่าเป็นเพียงอุปสรรคจากเท่านั้น

“การเปลี่ยนแปลงเป็นอุปสรรคกับเอสเอ็มอีที่ไม่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง แต่หากเอสเซ็นพีปรับตัวสู่การเป็น Global SMEs จะสามารถขยายโอกาสขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เอสเอ็มอีจะต้องผลิตสินค้าที่มีจุดเด่น (Key Concept) ที่มีจุดยืนที่แตกต่าง มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ การสร้างพันธมิตรธุรกิจ และรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และต้องรู้เท่าทันนวัตกรรมด้วย”

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีหลายด้าน เช่น โครงการเอสเอ็มอีโปรแอคทีฟ ซึ่งมีเงินทุน 500 ล้านบาท ดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอี เข้าร่วมงานแฟร์ รายละ 200,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economic Academy : NEA) จัดอบรมหลักสูตรสำหรับพัฒนาเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ


นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังมีศูนย์ให้บริการข้อมูลเพื่อให้คำปรึกษาเอสเอ็มอีให้สามารถตรวจสอบข้อมูลว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นมา เคยมีการผลิตหรือจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซ้ำซ้อนกับผู้ผลิตรายอื่นหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรู้เขารู้เรา และสามารถพัฒนาสินค้าที่มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นได้ เป็นต้น