กรมทรัพย์สินทางปัญญาหนุนผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

กรมทรัพย์สินทางปัญญาหนุนผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ‘GI’ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าชุมชนสู่ระดับพรีเมียม ได้อีก 20-100%

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ GI จำนวน10 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ทุเรียนนนท์ ทุเรียนป่าละอู ไข่เค็มไชยา ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ส้มโอปูโกยะรัง ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มะขามหวานเพชรบูรณ์ และกาแฟเขาทะลุ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์จากท้องถิ่นต่างๆ ให้รูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย และสามารถดึงดูดใจผู้ซื้อ โดยยังคงอัตลักษณ์สินค้าท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าคุณภาพระดับพรีเมียมได้ถึง 20-100 %

ทั้งนี้โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ถือ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ และช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญนักออกแบบมืออาชีพที่มีประสบการณ์และผลงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมาร่วมในโครงการ อาทิ นายรัฐ เปลี่ยนสุข นางสาวอุฬารพัชร นิธิอุทัย นางสาวศุภกานต์ วงศ์แก้ว นางสาวชุติมา รุ่งโรจน์พานิชกุล และ EL Studio โดยมีการนำอัตลักษณ์ของสินค้า GI มาพัฒนา ต่อยอดแนวคิดเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม โดดเด่น สร้างการจดจำ และสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า GI นั้นได้ ซึ่ง นอกเหนือจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ทั้ง 10 รายการแล้ว ยังมีการออกแบบชุดของขวัญสินค้า GI เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่บุคคลทั่วไปในการนำสินค้า GI มาเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลต่างๆ ด้วย


นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการขึ้นทะเบียน GI ไทย ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ จะเป็นต้นแบบของการยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ (Branding) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และการสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ซึ่งจะนำรายได้มาสู่ชุมชนและประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นายเชิงชาย หอมดี ตัวแทนกลุ่มทุเรียนป่าละอู กล่าวว่า จากการนำบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ไปทดลองจำหน่ายที่หัวหินได้รับผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี และทำให้สามารถจำหน่ายได้มากกว่าร้านอื่นๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกันเพราะความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์

นายธัญญะ โตพวง ตัวแทนไร่จิตตนันท์ มะขามหวานเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ผลตอบรับจากการนำบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ไปจำหน่ายในงาน GI Market 2018 สามารถสร้างยอดขายภายในงานได้ถึง 165,000 บาท รวมถึงยังมีผู้สนใจมาสั่งซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่ออีกหลายราย