ไม่หวั่นสงครามการค้าทุบส่งออกสหรัฐฯหด สรท.ปรับเป้าส่งออกปี’61โต 9% จากเดิม 8%

ไม่หวั่นสงครามการค้าทุบส่งออกสหรัฐฯหด สรท.ปรับเป้าส่งออกปี’61โต 9% จากเดิม 8% ชี้ยังต้องจับตา 8 ปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออก ปรับเป้าส่งออกทั้งปี 2561 ว่าจะขยายตัว 9% จากเป้าหมายเดิม 8% โดยการส่งออกในช่วง 5 เดือนหลังจากนี้จะต้องส่งออกได้เฉลี่ย 22,240 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

สำหรับการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 20,424 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 8.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 662,175 ล้านบาท ขยายตัว 4.1% เมื่อเทียบกับเดือน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 687,783 ล้านบาท ขยายตัว 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนกรกฎาคม 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 516 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 25,608 ล้านบาท

“ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน มีเพียงสหรัฐฯที่หดตัวเป็นเดือนแรก แต่ไม่มากนัก และสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น”

ส่วนการขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม เกิดจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และ ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกสูงกว่าระดับ 55 แสดงให้เห็นถึงความมุมมองของผู้ส่งออกยังมีทิศทางเป็นบวกอยู่และส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวถึง ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า จีน-อียู ปรับขึ้นภาษีนาเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน เช่น พืชเกษตรและอาหารทะเล และมีแนวโน้มกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกผลกระทบเชิงบวกจากวิกฤตค่าเงินตุรกี ที่ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอ ที่อาจมีต้นทุนสูงขึ้น เป็นโอกาสของไทยจากการเป็นตลาดทดแทนในกลุ่มสิ่งทอ เพิ่มมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์จากมาเลเซียกลับมาที่ไทย และการผ่อนคลายมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ยกเลิกจากัดปริมาณการนาเข้าสินค้าอย่างไข่ไก่ เกลือ รวมถึงน้ำตาลที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือ

อย่างไรก็ตาม สรท.ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการไหลกลับเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตค่าเงินตุรกี สถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าและแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนเข้ามาในประเทศทำให้เงินบาทแข็ง และกระทบมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท โดยปัจจุบันคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของปี 2560 ไว้ที่ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (บวกลบ 0.5)

2) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 และ 232 ยังคงส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซล เหล็ก ทั้งนี้ สถานการณ์ยังไม่แน่นอนจากการขึ้นภาษีตอบโต้ หากแต่ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์ที่อาจจะเป็นโอกาสอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะไหลเข้าไทย ทั้งถั่วเหลือง ข้าวสาลี แต่ในภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบกับการส่งออกไทยมากนัก

3) ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ทิศทางราคาน้ามันดิบปรับขึ้น ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการบริโภคของอุปสงค์ ภายในประเทศและผลกำไรของผู้ประกอบการในทางอ้อม

4) ราคาสินค้าเกษตรและประมงบางรายการ ที่ยังคงเผชิญสภาวะตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา ข้าว มันสาปะหลัง กุ้ง 5) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์และกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการส่งออก

6) สหรัฐอเมริกา เตรียมทบทวนการให้สิทธิ GSP ในช่วงเดือนตุลาคมนี้กับ 25 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก รวมถึงไทย ที่คาดว่าจะมีการปรับอัตราภาษีการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10% ในขณะที่จีนที่ถูกปรับขึ้นอัตราภาษีที่ 25%

7) วิกฤตภาวะเงินเฟ้อประเทศเวเนซุเอลา กว่า 82,766% และการอพยพของประชากร การเพิ่มอัตราค่าแรงและการเปลี่ยนสกุลเงินที่อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่หนักขึ้น อย่างไรก็ตามการค้าขายระหว่างไทยและเวเนซุเอลา (7 เดือนที่ผ่านมา) ไทยมีมูลค่าการค้า 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการนำเข้า 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 0.0040% ของมูลค่าการนาเข้าทั้งหมด และส่งออก 6.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 0.0042% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

8) มาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 50% ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจตุรกีและเกิดวิกฤตการค่าเงินตุรกีอ่อนค่ารุนแรง สะท้อนถึงภาระหนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นและจากความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินจะทำให้กลุ่มธนาคารของยุโรปในฐานะเจ้าหนี้ได้รับผลกระทบที่ลุกลามเป็นวงกว้าง และกระทบภาคการส่งออกของตุรกีโดยตรง ผู้ประกอบการไทยต้องระมัดระวังเรื่องการค้าขายกับตุรกีรวมถึงเทอมการชำระเงิน สถานการณ์ค่าระวาง อัตราค่าระวางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

พร้อมกันนี้ สรท.ได้ข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการส่งออก รวมถึง SMEs ควรสร้างความเข้าใจ เตรียมรับมือและพิจารณาการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประกันความเสี่ยงทางอัตราแลกเปลี่ยน เช่น Local Currencies, การเปิดบัญชี Foreign Currencies Deposit : FCD และกระจายความเสี่ยงจากสงครามทางการค้า โดยการเจาะตลาดคู่ค้าใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการสิทธิประโยชน์ ภายใต้กรอบ FTA อื่นๆ ทดแทนความเสี่ยงจากสงครามการค้า รวมถึงเร่งผลักดันการเจรจาการค้าเสรีใหม่ CPTPP, RCEP, EU, ปากีสถาน, ตุรกี, บังคลาเทศ และกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างสรุปการเจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าในระยะยาว และส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce

และขอให้ภาครัฐควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์ อาทิ เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการยกขนตู้สินค้า ลดความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมต่อการขนส่งระบบราง และ ICD นอกท่าเรือเพื่อลดแถวคอยของรถบรรทุกภายในท่าเรือ และกำหนดให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในส่วนของต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 เป็นต้น และผลักดัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ที่สอดคล้องกับแนวทางตามกรอบของ WTO เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าและการส่งออก