อุตฯสานต่อMOU4.0เกาหลี ดันหุ่นยนต์ลงพื้นที่EEC-BOIจับคู่ธุรกิจ

BOI จับมือ “อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์” ดึงนักลงทุนเกาหลีใต้ 40 รายเยือนไทย หวังลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ พร้อมจัดงานจับคู่ธุรกิจกับสมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย สานต่อความร่วมมืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ไทย-เกาหลีลงนาม MOU กันไว้ก่อนโรดโชว์อีกรอบ

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่นายเพก อุนกยู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปรากฏว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อทำหน้าที่ยกร่างแผนความร่วมมือ และประสานระหว่างไทยและเกาหลีอย่างใกล้ชิด

และได้เตรียมลงนามความร่วมมือ (MOU) ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พัฒนาบุคลากรและขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดว่าจะมีการโรดโชว์ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศกันอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

“ประเทศไทยมีแมนูแฟกเจอริ่งมากที่สุดในอาเซียน และมีนโยบายผลักดันการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่เกาหลีเก่งเรื่องหุ่นยนต์สำหรับอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนในการใช้หุ่นยนต์สูงที่สุดในโลก กล่าวคือ ลูกจ้างทุก ๆ 10,000 คนทำงานมีหุ่นยนต์กว่า 700 ตัว (10,000 : 700) สูงกว่าสิงคโปร์ที่มีอัตราส่วน 10,000 คนต่อหุ่นยนต์ 400 ตัว เยอรมนี 10,000 คนต่อ 330 ตัว และญี่ปุ่น 10,000 คนต่อ 300 ตัว ขณะที่ค่าเฉลี่ยปัจจุบันทั้งโลกอยู่ที่ 10,000 : 74 ตัว ส่วนประเทศไทยยังอยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อ 60 ตัวเท่านั้น เกาหลีจึงใช้โอกาสนี้เข้ามาในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์โลก ซึ่งในตลาดโลกแต่ละปีขยายตัว 14% ต่อปี โดยจีนเติบโตสูงสุดถึงประมาณ 30% เพราะฉะนั้น เขาจึงอยากร่วมมือทั้งอยากให้คนรู้จักเพราะอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่ค่อยใช้อุปกรณ์จากเกาหลีเท่าไร น่าจะเป็นเฟสที่ 1 ถ้าผ่านสเต็ปนี้ไปได้คนใช้พอสมควรก็อาจเป็นเรื่องของการจะเข้ามาลงทุนได้แล้ว” นายณัฐพลกล่าว

หลังจากที่รัฐบาลได้ออกแพ็กเกจกระตุ้นตลาดทั้งในฝั่งผู้ใช้และผู้ผลิตแล้ว เริ่มเห็นผู้สนใจปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมากขึ้น สิ่งที่เดินหน้าได้ตอนนี้ก็คือ การเข้ามาร่วมมือพัฒนาให้กับ SI ภายในประเทศ และรวมถึงการลงทุนโรงประกอบชิ้นส่วนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทย นับเป็นกลไกที่กระตุ้นให้ตลาดมีความต้องการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น “การตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จะเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์จาก BOI แต่มองจากภาษีสรรพสามิตที่เป็นตัวบล็อกตลาด เมื่อทำให้มีตลาดเกิดดีมานด์ มีต้นทุนวัตถุดิบอย่างเหล็กราคาต่ำ การลงทุนโรงงานผลิตจะตามมาแน่นอน”

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ในโอกาสที่อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์ (AKC) และสถาบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์แห่งเกาหลีใต้ (KIRIA) นำคณะนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกาหลี 40 ราย จาก 13 บริษัท เดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทยเป็นครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย. 2561 ทางบีโอไอไดัจัดสัมมนาโอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยขึ้น เพื่อให้ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่บีโอไอให้การส่งเสริม เพื่อให้นักลงทุนเกาหลีใต้ได้รับทราบ เพราะเกาหลีเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไทยต้องการเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน ทาง BOI เชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจเกาหลีใต้ตัดสินใจลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนตลาดไทยและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วย

นอกจากนี้ ทางกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (BUILD) ยังร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย (TARA) จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ และจะนำคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ EEC ด้วย

“อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยปัจจุบันมีการนำเข้าหุ่นยนต์และเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการกว่า 80% ที่จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร-การแพทย์-ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์-เคมีภัณฑ์-โลจิสติกส์ และธุรกิจบริการต่าง ๆ”

สำหรับภาพรวมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นับตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2561 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 39 โครงการ เงินลงทุน 3,351 ล้านบาท และมีผู้ขอรับการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 18,958 ล้านบาท ส่วนเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นอันดับ 8 โดยตั้งแต่ปี 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2561 มีโครงการเกาหลีขอรับการส่งเสริม 92 โครงการ เงินลงทุน 14,737 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์

ด้านนายลี ฮยอก เลขาธิการศูนย์อาเซียน โคเรีย เซ็นเตอร์ กล่าวว่า นักลงทุนจากเกาหลีใต้ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพในการเป็นผู้พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับที่ดีและมีความสนใจที่จะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง ภายใต้การให้สิทธิประโยชน์หลากหลาย การให้ข้อมูล และการลงพื้นที่จะช่วยให้นักธุรกิจที่สนใจทราบโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจะมีโอกาสลงทุนเพิ่มขึ้น