เล็งขอ2หมื่นล้านลดพื้นที่ปลูกยาง กระทรวงเกษตรฯ ชงครม.อังคารหน้า

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า อังคารที่ 11 ก.ย.นี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณางบประมาณ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการมาให้กระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าดูแลค่าครองชีพในระยะเวลา 3 เดือน โดยใช้งบประมาณของภาครัฐ เป็นเงินสด แบ่งจ่าย 2 งวด

เบื้องต้นได้คิด แบบจำลองการช่วยเหลือ ไว้ 4 แบบคือ 1. ช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อย ที่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ 2. ช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ 3. ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุกรายแต่จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10 ไร่ หรือ 15 ไร่ และ 4. ช่วยเหลือเกษตรกรทุกรายแต่ไม่เกินรายละ 5 ไร่, 10 ไร่ หรือ 15 ไร่ ซึ่งทั้ง 4 แบบจำลองนี้ ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกยท. ต้องหารือก่อนว่าจะใช้เงินงบประมาณจำนวนเท่าไหร่

“การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางครั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยาง ต้องประสบปัญหาราคายางพาราไม่ปรับตัวสูงขึ้น นายกฯ มีความกังวลกับค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของชาวสวน กยท. และกระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างเร่งด่วน แต่จะเป็นการจ่ายให้ต่อไร่วงเงินเท่าไหร่ หรือเกษตรกรรายใดบ้าง ต้องพิจารณาร่วมกับครม. อีกครั้ง แต่กลุ่มที่จะได้รับความช่วยเลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. เท่านั้น”

แหล่งข่าวจาก กยท. กล่าวว่า เมื่อการประชุมผู้บริหารเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. ได้เสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งด้านการสร้างการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ และการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นโครงการสำคัญของ กยท. เพื่อผลักดันราคายางพาราให้มีเสถียรภาพ มีเป้าหมาย เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 1 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณยางพารา 2 แสนตัน หรือปีละ 4 แสนตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2562-2566)

โดยคุณสมบัติผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ที่มีสวนยางตั้งอยู่ในพื้นที่สิทธิครอบครองตามกฏหมาย และได้เปิดกรีดมาแล้ว 7 ปี กยท. จะตรวจและคัดเลือกเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ โดย กยท. จะขอสนับสนุนงบประมาณจ่ายขาดจากรัฐปีละ 4,030 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2561-2566) รวมเป็นเงิน 20,150 ล้านบาท จ่ายให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไร่ละ 2 หมื่นบาท คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่ปลูกยางได้ปีละ 2 แสนไร่

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์