รัฐอุ้ม SME รับค่าบาทผันผวน ผนึกแบงก์-เอกชนติวเข้มประกันความเสี่ยง

รัฐเตรียมแจกคูปอง 30,000 บาทต่อรายอุ้ม SMEs ส่งออก 26,000 ราย จ่ายค่าธรรมเนียมซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง รับมือค่าเงินผันผวน ทำรายได้สูญกว่า 8-9%

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมออกมาตรการใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ทำธุรกิจส่งออก ใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการเงิน เพื่อวางแนวทางมาตรการดังกล่าวให้ชัดเจน คาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจน

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั้งหมดจากภาครัฐปัจจุบัน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรม, กองทุนพลิกฟื้นกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และกองทุนฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank), โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) วงเงินเหลือมากถึง 81,000 ล้านบาท, สินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากอุทกภัยภาคใต้ (ขยายทั่วประเทศ) วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง เป็นต้น

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมี SMEs ที่ทำธุรกิจการส่งออกจำนวนประมาณ 26,000 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่มีความรู้หรือวางแผนบริหารจัดการกับค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยนได้ ทำให้เมื่อซื้อขายสินค้าในอัตราปัจจุบันเมื่อถึงเวลาได้เงินกลับเข้ามา กลับเป็นช่วงที่ค่าเงินผันผวนทำให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกมักจะซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงไว้ แม้จะเสียค่าธรรมเนียมที่สูง แต่คุ้มกว่าสูญเสียจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่รู้ว่าค่าเงินจะแข็งหรืออ่อน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) จำนวน SMEs ที่มีการส่งออกถึง 26,000 ราย พบว่ามีเพียงประมาณ 2,000 รายเท่านั้นที่มีการซื้อเครื่องมือรองรับความเสี่ยงไว้ และส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่รู้และเข้าใจเทคนิคในการบริหารการเงิน แต่ผู้ส่งออกอีกกว่า 20,000 ราย ที่ไม่รู้จักบริหารความเสี่ยงดังกล่าว จะต้องเริ่มเข้าไปให้ความรู้ว่าการป้องกันความเสี่ยงคืออะไร เพราะพบว่าการสูญเสียจากค่าเงินผันผวน 8-9% นั่นหมายถึงมูลค่าเงินที่หายไป

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า รูปแบบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ส่งออกดังกล่าวคือมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) อย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เข้าไปการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการช่วยเหลือค่าพรีเมี่ยม (Premium) ในการที่ผู้ประกอบการซื้อออปชั่น (Option)

จากธนาคารพาณิชย์ และ EXIM Bank โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท โดย SMEs ที่ผ่านเกณฑ์อบรมแล้วจะได้รับคูปอง เบื้องต้นรายละไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับนำไปใช้ซื้อออปชั่นจาก EXIM Bank