“สนธิรัตน์” เปิดงานบางกอกเจมส์ เผยจะสร้างมูลค่าการซื้อขายภายในงานทันทีไม่ต่ำกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“สนธิรัตน์” เป็นประธานเปิดงานบางกอกเจมส์ เผยงานนี้จะสร้างมูลค่าการซื้อขายภายในงานทันทีไม่ต่ำกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมต้องการสร้างผู้ประกอบการ สนับสนุนเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อการแข่งขันและขยายตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ให้เข้มแข็งต่อไป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวอรี่ แฟร์ ครั้งที่ 62 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ก.ย.2561 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ว่าการจัดงานครั้งนอกจากเป็นการผลักดันการค้า การส่งออกยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับได้มีช่องทางการค้ามากขึ้น ซึ่งสอดรับกับที่รัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพราะอุตสาหกรรมนี้ มีมูลค่าการค้า การส่งออกที่ดีและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

และในปีนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เชิญผู้ส่งออก นำเข้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผู้ซื้อและนักธุรกิจตอบรับเข้ามาเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีจำนวน 2 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากการจัดงานครั้งที่ผ่านมาที่มีผู้เข้าชมงาน 1.34 หมื่นราย มาจาก 130 ประเทศทั่วโลก เช่น ฮ่องกง โปแลนด์ ตุรกี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไนจีเรีย และสหรัฐฯ เป็นต้น และคาดว่ามูลค่าการซื้อขายภายในงานครั้งนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ซึ่งจะช่วยดันการให้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งปี 2561 ขยายตัว 1-3% ที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ผลิต และผู้ส่งออกรายใหม่ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป้าหมายที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจาก คนเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต

“การจัดงานครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้นำสินค้ามาจัดแสดง เพื่อเปิดตัวออกสู่ตลาดโลก รวมถึงสินค้าจากดีไซเนอร์และนักออกแบบรุ่นใหม่ และภายในงานยังมีสินค้าเด่นอย่างเช่นเครื่องประดับที่ผสมงานหัตถศิลป์ เครื่องประดับไลฟ์สไตล์ เช่น แว่นตากันแดดทำจากทองคำ เครื่องประดับในโอกาสสำคัญ เครื่องประดับโชคลาง มาจัดแสดงด้วย”

ทั้งนี้ ในปี 2561 กระทรวงฯได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่าประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1-3% ส่วนยอดการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 4,322 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.9%

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ (GIT) เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ มีโครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างรายได้สู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน (สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่สถาบันได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2560 โดยลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการและหารือหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและเดินหน้าพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ ในจังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน และสุโขทัย ซึ่งการค้นหาอัตลักษณ์ของงานออกแบบเครื่องประดับ ผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมเดิม และอัตลักษณ์เฉพาะตัวในการออกแบบของแต่ละแบรนด์ กับอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอก กลายเป็นเครื่องประดับลูกผสม (Hybridization) อันสวยงาม

ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และรูปแบบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับในแต่ละภูมิภาค ให้สามารถขยายตลาดการค้าสู่สากล รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศและดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาต่อยอดอย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย