“มติชน” หนุน GlobalSMEs ฝ่ายุคเทคโนโลยี-ดิสรัปชั่น

“เส้นทางเศรษฐี” จัดใหญ่ระดมกูรูแนะเส้นทางรอดเอสเอ็มอีไทยยุค 4.0 สู่โกลบอลเอสเอ็มอี

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางกองบรรณาธิการนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ในเครือมติชน พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ 16 หน่วยงาน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นต้น จัดงานสัมมนาทางเลือก-ทางรอด SMEs ยุค 4.0 ขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถประกอบธุรกิจอยู่รอด เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ในแต่ละเดือนมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนธุรกิจ เฉลี่ย 5,000-6,000 ราย เป็นเอสเอ็มอี 98% และธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการ 1,300-1,400 ราย เป็นเอสเอ็มอีถึง 95% สะท้อนว่าเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่เกิดง่ายและตายง่าย”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษกิจของประเทศ แต่มีวงจรชีวิตของธุรกิจสั้น (ไซเคิล) เฉลี่ย 3-5 ปีเท่านั้น

ดังนั้น การพัฒนาเอสเอ็มอีให้อยู่รอดและเติบโตท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น จะต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพัฒนาไปสู่โกลบอลเอสเอ็มอี (global SMEs) เพื่อขยายตลาด โดยอาศัยการสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เอสเอ็มอีต้องผลิตสินค้าที่มีจุดเด่นที่มีจุดยืนที่แตกต่าง มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน รู้วิธีการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการสร้างพันธมิตรธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

กระทรวงพาณิชย์มีโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหลายด้าน เช่นโครงการเอสเอ็มอีโปรแอคทีฟ มีเม็ดเงิน 500 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าร่วมงานแฟร์รายละ 200,000 บาท สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) จัดอบรมหลักสูตรพัฒนาเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ และมีศูนย์บริการตรวจสอบข้อมูลการจดทรัพย์สินทางปัญญาซ้ำซ้อน

นางสาวประภัสรา เนาวบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักงานสาขากรุงเทพมหานคร ฝ่ายกิจการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.จัดทำโครงการเอสเอ็มอีทวีทรัพย์ ซึ่งในปีนี้ บสย.ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินค้ำประกันมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยร่วมมือกับธนาคาร 18 ธนาคาร เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีที่มีบัญชีเดียวในการยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1 ปี จากปกติ 1.75%

ทั้งนี้ ในปี 2560 บสย.อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 86,633 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ 90,931 ราย ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าค้ำประกันที่ 1.1 แสนล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการรายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ 99,330 ราย

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. ได้จัดทำ www.SMEONE.Info ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ร่วมกับ 9 กระทรวง เพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บท ฉบับที่ 4 ที่มุ่งช่วยเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนธุรกิจ การสร้างความเป็นสากล และการสร้างเครือข่าย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้