กรมชลฯเร่งพร่องน้ำเขื่อนใหญ่รองรับมวลน้ำใหม่ ชี้เจ้าพระยา ลุ่มน้ำตะวันออกปราจีนบุรี-นครนายก-บางปะกง เสี่ยงท่วม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 7/2561 ณ ห้องประชุม 1 ประชารัฐ ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) เพื่อประชุมติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์ฝน โดยกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือจิสด้า การคาดการณ์สภาพน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำ โดย กรมชลประทาน (ชป.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและการช่วยเหลือ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) และกองทัพบก (ทบ.)

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังร่วมกันพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายก และบางปะกง โดย ชป. กฟผ. ทน. จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อหารือแนวทางบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี นครนายก และบางปะกง โดยพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1. เร่งพร่องน้ำพื้นที่ฝนตกหนักจากการคาดการณ์แผนที่ One map และให้เก็บกักน้ำภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน 2. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำนครนายก ลุ่มน้ำปราจีนบุรี จังหวัดตราด จันทบุรีเพชรบุรี 3. การพิจารณาเร่งระบายน้ำแม่น้ำนครนายกและปราจีนบุรีโดยการผันน้ำเข้าคคลองชลประทานฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังหารือถึงแผนเตรียมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสสนก.ที่คาดการณ์ว่าในปลายเดือนนี้ถึงต้นตุลาคมจะมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนแก่งกระจาน และในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนพร่องน้ำจากเขื่อน และน้ำที่ยังค้างในปัจจุบันให้มากขึ้นรองรับน้ำก้อนใหม่ด้วย

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนในวันนี้ (10 ก.ย.61) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนตกสะสม 20 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชรชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากใน ภาคเหนือจ.เชียงราย 87 มม. ลำปาง 81 มม. น่าน 78 มม. สุโขทัย 75 มม. เพชรบูรณ์ 57 มม. พะเยา 54 มม. แม่ฮ่องสอน 51 มม. อุตรดิตถ์ 47 มม. พิจิตร 43 มม. ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี 75 มม. ประจวบคีรีขันธ์ 38 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ 77 มม. ศรีสะเกษ 72 มม. มหาสารคาม 54 มม. อุบลราชธานี 42 มม. ร้อยเอ็ด 39 มม. สุรินทร์ 36 มม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสำคัญที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งขณะนี้ ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ แนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ตามการลดลงของแม่น้ำโขง แม่น้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี แนวโน้มทรงตัว พื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี แนวโน้มทรงตัว สำหรับสถานการณ์น้ำโขงขณะนี้ไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย และ จ.นครพนม