ปตท. ยัน GPSC ควบรวม GLOW ไม่ผูกขาดตลาด ลุ้น กกพ. ไฟเขียว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่าจากกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลังได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ถึงประเด็นที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ซื้อหุ้น 69.11% ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ซึ่งจะมีผลให้ทำให้เป็นบริษัทสามารถผูกขาดธุรกิจนี้ได้

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นที่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ซื้อหุ้น 69.11% ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ซึ่งจะมีผลให้ทำให้เป็นบริษัทที่มี “อำนาจเหนือตลาด” ว่า GPSC เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของปตท. ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยมุ่งเน้นรองรับความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาเป็นระยะเวลานานแล้ว มีกำลังการผลิตประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ และเมื่อGPSC ควบรวมกับ บริษัท GLOW ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ ประมาณ 3,000 กว่าเมกะวัตต์ จะทำให้บริษัทที่ควบรวมมีกำลังผลิตการผลิตรวมกัน 5,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% เทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้ ปีละ 30,000 – 40,000 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มาก และผลการควบรวมทำให้ GPSC ขึ้นอยู่มาอยู่ในอันดับ 3 ในธุรกิจนี้ แต่หากนับรวมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตทาง GPSC จะกลายเป็นอันดับที่ 5 จากจำนวนผู้ผลิตในธุรกิจนี้ ที่มีมากกว่า 30 ราย และบางรายมีกำลังการผลิต 10,000 หรือ 7,000 เมกะวัตต์

“สิ่งที่ทุกคนกังวลไม่ผิด แต่ปตท.เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีการทำระบบบัญชีที่มีมาตรฐานไม่สามารถ Transfer กำไรไปยังอีกบริษัทได้ เราเป็นมืออาชีพ ในอีกด้านหนึ่งการซื้อ GLOWทำให้บริษัทสามารถ Synergy และลดต้นทุนด้านต่างๆ เช่น การซื้ออะไหล่ในการซ่อมให้ต่ำลงได้”

ส่วนสาเหตุที่ GLOW ตัดสินใจขายให้ปตท.เพราะเป็นนโยบายของผู้ถือหุ้น ในฝรั่งเศสที่ต้องการขายกิจการเพื่อไปปรับเปลี่ยนไปสู่ New Business Model โดยบริษัทฯได้คุยกับหลายราย แต่ได้ข้อสรุปให้กับ ปตท. และมีการดำเนินการผ่านบอร์ดต่างๆ ทั้งสองฝ่ายแล้ว และมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้การดำเนินการจะสะดุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ (ตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560) และการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะพิจารณาสรุปอย่างไร

ทั้งนี้ GPSC เป็นบริษัทลูกก็จริงแต่เป็นเอกชน ส่วนปตท.ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รองรับการขยายตัวและความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงงาน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการสัดส่วนการขายผ่านสายส่ง (Grid) น้อยมาก การดำเนินการได้มีการพิจารณาทางด้านกฎหมายอย่างรอบด้าน

รายงานข่าวระบุว่า ตามพรบ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 นั้นยังไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์การควบรวมธุรกิจมาเป็นแนวปฏิบัติ และธุรกิจพลังงานถือเป็นธุรกิจเฉพาะซึ่งอาจจะไม่เข้าข่ายที่จะต้องรายงานตามกฎหมายนี้ เท่ากับว่าขึ้นอยู่กับ กกพ.เท่านั้น