ยืดเวลา “ไทยนิยมยั่งยืน” อีก 6 เดือน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร 1.8 ล้านราย

แฟ้มภาพ

ยืดเวลา “ไทยนิยมยั่งยืน” อีก 6 เดือน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร 1.8 ล้านราย-เชื่อสิ้น ก.ย.เดินหน้าทุกโครงการครบ 100%

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกระทรวงเกษตรฯภายใต้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีการลงนามในสัญญาจ้างประมาณ 80% ของงบประมาณ และมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 37.48% คิดเป็นวงเงิน 9,367.75 ล้านบาท เชื่อว่าสิ้นก.ย.2561 จะสามารถผูกพันงบประมาณได้ 100%

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการแบ่งเป็น แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิต เป้าหมาย 24,300.69 ล้านบาท เบิกจ่าย 9,011.71 ล้านบาท หรือ 37.08% ของงบประมาณ และแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตวงเงิน 693.08 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 356.03 ล้านบาท หรือ 51.37% ของงบประมาณ

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นหัวหน้าทีมเร่งรัดการทำงาน ติดตามการใช้งบประมาณและเบิกจ่ายทุกสัปดาห์ จึงเชื่อว่าก.ย.นี้ จะสามารถผูกพันงบประมาณได้ 100% และเมื่อสัปดาห์ก่อนคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติขยายเวลาให้โครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลทุกโครงการออกไปอีก 6 เดือนหรือสิ้นสุด มี.ค.2562 เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรอบครอบและประโยชน์ตกแก่เกษตรกร ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯใดเรียกคืนเงิน หรือ มีแนวโน้มดำเนินโครงการไม่ทันจนต้องคืนเงินให้กับรัฐบาล โดยที่ผ่านมาคณะผู้ตรวจราชการของกระทรวงเกษตรฯได้ลงพื้นที่ และแจ้งทุกหน่วยงานให้ดำเนินการเร่งจัดโครงการอย่างรัดกุมให้เป็นไปตามระเบียบ มีความโปร่งใส รวมทั้งทุกหน่วยงานประสานข้อมูลและบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยติดตามการดำเนินการในแต่ละกิจกรรมที่มีความโดดเด่น สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพื่อนำไปต่อยอดการขยายผล และเชื่อมโยงการตลาดให้เกษตรกรในอนาคต

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานโดยภาพรวมของโครงการฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.88 ล้านราย เกษตรกรมีรายได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ 1.74 ล้านราย รายได้ทางตรงที่เกษตรกรได้รับจำนวน 1,017 ล้านบาท และเกษตรกรได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกจากดครงการจำนวน 8,681 รายการ โดยในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการผลิต ของ 13 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯมีทั้งหมด 17 โครงการ วงเงิน 4,913.07 ล้านบาท เกษตรกรได้รับความรู้ 1.69 ล้านราย เกษตรกรมีรายได้จากโครงการจ้างงาน และการอบรม 946.04 ล้านบาท

ส่วนงบลงทุน 9 หน่วยงาน 15 โครงการ วงเงิน 4,098.65 ล้านบาท สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเกษตร 8,649 รายการ โดยรายละเอียดและความคืบหน้าของโคงการ มีดังนี้คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ หาแหล่งน้ำชุมชน ขณะนี้มีความคืบหน้าหลายโครงการ ,ส่วนการพัฒนาการผลิตโดยการปรับเปลี่ยนการผลิต โดยการให้ลดพื้นสวนยาง 93,062 ไร่ อบรมสร้างอาชีพใหม่ 12,094 ราย พื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวเปลี่ยนไปปลูกผลไม้และเกษตรผสมผสาน 6,488.50 ไร่ ,พัฒนาผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์

สนับสนุนเครื่องเกี่ยวนวดข้าว ชุดปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ,ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,574 ไร่ หรือประมาณ 790 ตัน ,ได้จำนวนลูกสัตว์เพิ่มตามที่ผลิตได้ 25,169 ตัว นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 9,000 ชุใชน เกษตรกร 1.63 ล้านคน โดยความรู้ที่ได้รับประกอบด้วย กิจกรรมปศุสัตว์ 3,620 คน ได้พัฒนาทักษะการผสมเทียม การเฝ้าระวังดรค และอนุมัติเงินสนับสนุนให้ทำกิจกรรมอีก 8,467 โครงการ ชุมชนละ 300,000 บาท

นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดำเนินการโดย 9 หน่วยงาน 1 โครงการ ดำเนินการได้แล้ว 241.47 ล้านบาท หรือคืบหน้า 47.77% มีประชาชนมีอาชีพใหม่ 141,468 คน มีรายได้รวม 71.03 ล้านบาท และ งบลงทุน ในการพัฒนาระบบชลประทาน ดำเนินการแล้ว 114.56 ล้านบาทหรือคืบหน้า 61% จ้างงานได้ 9,051 คน เฉลี่ยมีรายได้ 12,716 ล้านบาท/คน