กพร.โดดอุ้ม40เหมืองแร่ ขอทำธุรกิจใต้พ.ร.บ.เก่า

กพร.ยื่นกฤษฎีกาอุ้ม 40 ธุรกิจเหมืองแร่ที่อยู่ระหว่างพิจารณายื่นขออาชญาบัตร-ประทานบัตร-ต่ออายุใบอนุญาต ผ่อนปรนให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับเก่า ก่อน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่มีผล 29 ส.ค.นี้

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ภายใต้พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 29 ส.ค. 2560 มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ทั้งหมด14 เรื่อง อาทิ นโยบายการบริหารจัดการแร่ โดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคำนึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ จากเดิมที่ไม่มีนโยบายนี้ รวมถึงการจัดเก็บค่าภาคหลวงที่จะถูกปรับเพิ่มเป็นเพดานสูงสุดที่ 30% ของราคาตลาดแร่ จากปัจจุบันมีอัตราจัดเก็บที่ 20% ซึ่งปี 2559 กพร.จัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ปี 2559 ได้ 4,000 ล้านบาท ขณะที่โทษปรับทางอาญาจากจำคุก 3 ปี จะเพิ่มเป็น 5 ปี ตามแต่สถานการณ์ ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่ม 100 เท่า

การทำเหมืองแร่จะต้องประกาศจากรัฐว่าพื้นที่ใดเป็นแหล่งแร่จึงจะทำได้ โดยห้ามทำเหมืองในพื้นที่อนุรักษ์ไว้ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่กฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด รวมถึงการอนุญาตตามกฎหมายจากเดิมการออกอาชญาบัตรต่าง ๆ จะให้อำนาจอธิบดี กพร. แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ปรับให้ออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ โดยให้อำนาจองค์กรส่วนท้องถิ่น ส่วนการออกอาชญาบัตรผูกขาดการสำรวจแร่ ให้อำนาจอธิบดี กพร. สำหรับอาชญาบัตรพิเศษให้อำนาจอธิบดี กพร.ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่

ส่วนการทำเหมืองแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 เหมืองขนาดเล็กให้อำนาจเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการแร่จังหวัด ประเภทที่ 2 เหมืองขนาดกลาง และประเภทที่ 3 เหมืองขนาดใหญ่ ให้อำนาจอธิบดี กพร. อนุญาตโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่

ปัจจุบันมีจำนวนการยื่นขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุใบอนุญาตในส่วนที่ค้างอยู่ในส่วนกลางรับผิดชอบมี 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นประเภทหินก่อสร้าง หินปูน ยิปซัม ซึ่งในจำนวนดังกล่าวหากไม่สามารถพิจารณาทันวันที่ 28 ส.ค.นี้ ก่อนที่จะใช้ พ.ร.บ.ใหม่ในวันที่ 29 ส.ค. จำเป็นต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาผ่อนปรน 40 รายนี้ ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับเก่า จนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ เนื่องจากหากไม่มีการผ่อนปรนจะต้องเริ่มกระบวนการยื่นเอกสารคำขอตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ยังมีเหมืองทองคำอีก 13 ราย ครอบคลุม 10 จังหวัดประมาณ 100 แปลงบนพื้นที่ 3 หมื่นไร่ที่อยู่ระหว่างการยื่นขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุใบอนุญาตนั้น จะยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากมีคำสั่ง ม.44 ให้ผู้ประกอบการยุติการทำเหมือง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 ดังนั้น แม้ว่ายุทธศาสตร์แร่ทองคำจะผ่านการเห็นชอบแล้ว แต่การอนุญาตให้ทำเหมืองทอง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี