สนช.ผ่านงบ กระทรวงอุต5,740ล้าน แผนบูรณาการงานใหม่เท122ล.ให้EEC

กางแผนงบปี”61 ก.อุตสาหกรรม 5,740 ล้าน เน้นบูรณาการแผนงานใหม่ 4 ด้าน EEC-เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ-ป้องกันปัญหาทุจริต

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงว่า ขณะนี้การจัดทำแผนงบประมาณประจำปี 2561 ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยได้วงเงินที่ 5,740.39 ล้านบาท ลดลง 3.08% จากงบประมาณของปี 2560 ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 5,922.88 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2561 จะเน้นแผนงานใหม่ 4 ด้าน (ตามตาราง) โดยงบประมาณทั้งหมด 5,740.39 ล้านบาท จะแบ่งใช้ใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.แผนงานบุคลากรภาครัฐ 1,617.97 ล้านบาท ลดลง 2.73% 2.งบประมาณตามฟังก์ชั่น 806.05 ล้านบาท ลดลง 52.33% อาทิ แผนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3.งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง และหน่วยงานในกำกับ (ไม่รวมวิสาหกิจ) 648.15 ล้านบาท ลดลง 9.98% อาทิ แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม บริการ การค้าและการลงทุน เป็นต้น

4.งบประมาณบูรณาการทั้งตาม Agenda และตามพื้นที่ 2,668.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.35% อาทิ แผนงาน บูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ แผนงานบูรณาการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น

“สาเหตุที่งบประมาณพื้นฐานถูกปรับลดลง เนื่องจากต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานกันมากขึ้น การทำงานเพียงลำพังหน่วยงานเดียวอาจไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือออกมาสมบูรณ์”

ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด เนื่องจาก สมอ.อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการสนามทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

สำหรับภาพรวมผลความสำเร็จการดำเนินงานของงบฯปี 2560 คือ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้รับการพัฒนาด้านผลิตภาพ 65% สร้างที่ปรึกษา วิทยากรด้านมาตรฐานการจัดการจำนวน 130 คน มาตรฐานระบบการจัดการของสถานประกอบการ 10 แห่ง เป็นต้น

2.การส่งเสริม SMEs หรือ Startup ได้ 2,024 คน กลุ่มที่ประสบปัญหา (Turn Around) เข้าสู่การพัฒนา 93 ราย และมีขีดความสามารถในสาขาเป้าหมาย 301 กิจการ 43 คน 2 กลุ่ม และกลุ่มแข็งแกร่ง (Strong) เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักร SMEs 500 ราย 3.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ 1,365 ไร่

4.การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 591 ราย 5.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรดำเนินการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม OTOP จำนวน 217 ราย 795 คน อบรมประชาชนในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 90 คน 6.การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ (อันตรายไม่อันตราย) 21.85 ล้านบาท/ตัน/ปี 7.การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น SMEs และวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเพชรบุรี 210 ผลิตภัณฑ์

8.การพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน เช่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา 10 โรงงาน

9.การป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เช่น การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 7 จังหวัด หรือ 400 โรงงาน