อีก 7 ปี EEC ส่อขาดน้ำ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ในพื้นที่ EEC อุตสาหกรรมและการลงทุนต่าง ๆ จะขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “น้ำ” กรมชลประทานระบุว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกยังพอรองรับ


หากว่า 16 โครงการที่กรมชลประทานเตรียมพัฒนาขยายศักยภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 16 โครงการ ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกจะไม่พอรองรับการใช้ตั้งแต่ช่วงปี 2567 ดังนั้นจึงมีความ “จำเป็น” ต้องมีการวางแผนรองรับ เพราะหากว่าระบบน้ำและไฟฟ้าไม่พอรองรับการใช้อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในพื้นที่ EEC ดังนั้นต้องจึงมีการผันน้ำจากโครงการสตึงมนัม ซึ่งเดิมทีลำน้ำดังกล่าวไหลลงทะเลประมาณ 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่ไม่มีการประโยชน์ กระทรวงพลังงานจึงมองการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และผันน้ำเข้ามาฝั่งไทย 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรองรับพื้นที่ EEC ในเรื่องของการผันน้ำและวางท่อเพื่อมาเชื่อมกับระบบท่อที่มีอยู่ในพื้นที่เดิมก็จะให้กรมชลประทานดูแลในเรื่องนี้ นอกจากโครงการนี้แล้ว เรายังมีการวางแผนเพื่อจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้อีก 2 เรื่อง คือ 1) การรีไซเคิลน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และ 2) ศึกษาการกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เพราะคาดว่าต้นทุนในอนาคตจะถูกลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีการกลั่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น