ชงแพ็กเกจหุ่นยนต์เข้าครม. SCG-ซีพี-ปตท.ขอบีโอไอ


5 บริษัทยักษ์ไทย “SCG-CPF-CPALL-ปตท.-KV” พาเหรดลงทุนหุ่นยนต์อัตโนมัติใช้แทนแรงงานคน จ่อยื่นขอส่งเสริมลงทุนจาก BOI พร้อมมาตรการภาษี 12,000 ล้านบาท หลังกระทรวงอุตฯ ชงแพ็กเกจหุ่นยนต์ เข้า ครม. ยักษ์หุ่นยนต์โลก “คูก้า-ฮิราตะ” พร้อมขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็วนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอ “แพ็กเกจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์” เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หลังจากที่ได้สรุปมาตรการส่งเสริมการลงทุนในทุกรูปแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุน 6 รายที่สนใจจะขอรับส่งเสริมการลงทุนจากแพ็กเกจนี้สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลงทุนใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์รวมถึงระบบอัตโนมัติ (Automation) จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ทันที คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนทั้ง 6 รายที่สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย กลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท เควี อิเลคทรอนิกส์ จำกัด (KV) และบริษัท คูก้า โรโบติกส์ (ไทยแลนด์) นอกจากนี้ยังมีบริษัท ฮิราตะ คอร์ปอเรชั่น เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในระบบอัตโนมัติ 1 ใน 5 รายของญี่ปุ่น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในไทยด้วย

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจจะยื่นขอ BOI จะมีทั้งที่เป็นรายเก่าที่ขอขยายการลงทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วน กับนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้าสู่การปรับเปลี่ยนระบบและกระบวนการโดยใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยแพ็กเกจที่เตรียมเสนอเข้า ครม. เช่น การ “ยกเว้น” ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง หากการนำเข้าชิ้นส่วนบางประเภทที่เป็นเป้าหมายและมีความต้องการใช้ ส่วนของ BOI จะเปิดให้บางธุรกิจที่ต้องการใช้หุ่นยนต์ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำจัดให้เพียงบางประเภทธุรกิจเท่านั้น

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เพิ่มการทำตลาดที่กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ที่เป็นอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายด้วย

5 บริษัทไทยนำร่อง

สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัทไทยทั้ง 5 บริษัท จะเป็นการลงทุนระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนระบบเครื่องจักรเดิมเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตภายในโรงงานทั้งหมด โดย 1) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไทย ลงทุน 944 ล้านบาท ทดแทนแรงงาน 1,050 คน/วัน

2) บริษัทซีพี ออลล์ หรือ CPALL จะทำโครงการนำร่องระบบการจัดเก็บสินค้าและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) 15,000 แห่ง เพื่อใช้แรงงานน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีความถูกต้อง สามารถควบคุมสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท

3) เครือ SCG มีโครงการนำร่องระบบการจัดเก็บสินค้าและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) 9,000 แห่ง เพื่อปรับปรุงระบบการเก็บรักษาการใช้ประโยชน์ให้มีความถูกต้องและความปลอดภัย ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 179 ล้านบาทลงทุนในประเทศ 135 ล้านบาทการลงทุนทั้งหมดสามารถทดแทนกำลังคนจาก 61 คน เหลือ 47 คน

4) บริษัท ปตท. หรือ PTT วางแผน 4 ปี (2559-2563) ในการพัฒนาหุ่นยนต์บังคับใต้น้ำ (ROV) ใช้สำหรับท่อส่งก๊าซเพื่อการทำงานและการบำรุง หากการลงทุนเป็นไปตามแผน หุ่นยนต์ ROV จะเข้ามาแทนที่การจ้างบริษัทเอาต์ซอร์ซ โดยหุ่นยนต์ใต้น้ำ 1 ตัวสามารถลดต้นทุนได้ถึง 70 ล้านบาท

5) บริษัท เควี อิเลคทรอนิกส์ จำกัด หรือ KV จะทำโครงการนำร่องระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิตแรงดันไฟฟ้าต่ำและหม้อแปลง สามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจนว่า หากบริษัทลงทุน 9.1 ล้านบาท ประหยัดต้นทุนได้ 2.8 ล้านบาท/ปี หากกำลังการผลิตอยู่ที่ 7,000 ยูนิต/วัน จากที่ต้องใช้กำลังคน 28 คน ก็จะลดลงเหลือเพียง 10 คน

6) บริษัท คูก้า โรโบติกส์ (ไทยแลนด์) เป็นนักลงทุนต่างชาติ มีแผนขยายการลงทุนในไทยไปสู่ภาคการผลิตชิ้นส่วนอัตโนมัติและหุ่นยนต์หยิบจับในพื้นที่ EEC จากปัจจุบันให้บริการติดตั้งระบบเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์อยู่แล้ว

เปิดแพ็กเกจหุ่นยนต์

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จะได้เพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานขยายระยะเวลาของวีซ่าให้เป็น 5 ปี จากเดิม 1 ปี ส่วนบริษัทที่มีความร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา/สถาบันเครือข่าย ซึ่งตรงกับหลักเกณฑ์การพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี โดยมาตรการสนับสนุนการพัฒนานี้จะเป็นการสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ป้อนให้กับ S-Curve และใน EEC ที่นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องของบุคลากรอาจไม่เพียงพอ หรือมีความสามารถไม่ตรงกับอุตสาหกรรม


โดยสรุปแล้ว มาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนคลัสเตอร์หุ่นยนต์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง อุตสาหกรรมการผลิต (Demand) ใช้มาตรการทางภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าเสื่อมอัตราเร่ง/หักค่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อซื้อระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ (ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40%) และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร, มาตรการทางการเงิน ประสานสถาบันการเงินในการจัดสรรวงเงินสินเชื่อในการปรับปรุงกระบวนการผลิต, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (ได้สิทธิ์จาก BOI) “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุน และ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร กับส่วนที่สอง อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ (Supply) จะใช้มาตรการดึงดูดนักลงทุนด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้ 8 ปี ลดหย่อน 50% อีก 5 ปี, ใช้กองทุน Fund of Fund เพื่อลงทุนใน Venture Capital ในลักษณะ Matching Fund, มาตรการทางการเงิน จะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, มาตรการทางภาษี ปรับโครงสร้างอากรขาเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต “ยกเว้น” อากรขาเข้ามาทำ R&D/ทดสอบ และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร