ปศุสัตว์เร่งประสานท่าอากาศยานเฝ้าระวังโรคอหิวาต์หมู “African swine fever”

“ปศุสัตว์เร่งประสานท่าอากาศยานเฝ้าระวังโรคอหิวาต์หมู “African swine fever” ที่มาจากเศษอาหาร-ชิ้นส่วนหมู หลังพบระบาดที่จีนแล้ว 15 แห่ง พร้อมประกาศห้ามนำเข้าทุกสินค้า by product จากจีน 90 วัน หากยังไม่คลี่คลายเตรียมเสนอรัฐมนตรีเกษตรฯออกกฎกระทรวงขยายเวลา”

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงขึ้น กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการเบื้องต้นในการควบคุมป้องกันโรคมิให้เข้ามาภายในประเทศ แต่การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมวางแผนการเผชิญเหตุจึงจำเป็นต้องมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้แผนที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับและปฏิบัติได้จริง

โดยล่าสุด กรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศชะลอการนำเข้าหมู รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนและประเทศที่มีการระบาดของโรค เป็นระยะเวลา 90 วัน ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกาศคำสั่ง ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2561 ถึง 3 ธันวาคม 2561

และแม้ว่ามาตรา 33 ของพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจอธิบดีกรมปศุสัตว์ในการออกประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ หากปรากฏว่าท้องที่ใดภายนอกราชอาณาจักรมีโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และจะเร่งประสานด่านกักกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดชุดปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนซากสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นทางจากประเทศจีน พร้อมเที่ยวบินที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเนื่องจากความเสี่ยงของการระบาดอาจจะมาจากเที่ยวบินที่มากับอาหาร เศษซากอาหารจากสุกร ผลิตภัณฑ์จากสุกร

“ล่าสุดพบที่ประเทศจีน พบแล้ว 15 แห่ง ซึ่งไทยเป็นเป็นประเทศที่เลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม ต้องรับมือไว้ก่อน โดยได้ออกมาตรการห้ามนำซากสัตว์จากประเทศที่เสี่ยง คือจีน 90 วัน หากไม่ดีขึ้นจะขยายเวลาโดยออกกฎกระทรวง ให้รัฐมนตรีลงนาม พร้อมประสานกระทรวงพาณิชย์กรณีห้องเย็นที่เก็บมีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สำหรับเกษตรกรกรณีที่จะเกิดโรคนั้นระยะฟักตัวเกิดขึ้นเร็วมาก ผู้เลี้ยงต้องเฝ้าระวังหากหมูมีอาการป่วย ตายผิดปกติ จะต้องเร่งแจ้งปศุสัตว์อำเภอและเก็บตัวอย่าง ย้ำว่าโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่หากไม่เตรียมการไว้ก่อนก็อาจจะกระทบเศรษฐกิจเนื่องจากไทยเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นขอความอนุเคราะห์ศูนย์เฝ้าระวัง อาทิ จ.ลำปาง จ.สุรินทร์ ตรวจซากสุกรที่ผลเป็นลบอย่างละเอียด รวมถึงด่านกักกันโรคทั่วประเทศ พร้อมทั้งประสานเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และโดยเฉพาะเศษอาหาร ซากกระดูกชิ้นส่วนที่จะมาจากเที่ยวบินต้นทางต้องประสานและขอความร่วมมือท่าอากาศยานไทยอย่างเร็วที่สุด”

นายสรวิศกล่าวไปว่า สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีสุกรป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในอนุภูมิภาคซาฮาราของทวีปอัฟริกา ประเทศซาดิเนียของทวีปยุโรป ต่อมาพบการระบาดของโรคในประเทศจอร์เจีย ประเทศอาเซอร์ไบจัน ประเทศอาร์เมเนีย สหพันธรัฐรัสเซียและล่าสุดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยโรคนี้เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่นสำหรับประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและยิ่งกว่านั้นโรคนี้เป็นโรคที่มีความความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการคล้ายคลึงกับโรคอหิวาต์สุกรและพีอาร์อาร์เอส คือ มีไข้สูง เบื่ออาหาร ท้องเสีย และแท้งในแม่สุกร โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรสามารถติดต่อได้จากการที่สุกรสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งของสุกรป่วย การหายใจเอาเชื้อเข้าไป การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมทั้งโดนเห็บที่มีเชื้อกัด เป็นต้น ทั้งนี้จากผลการสอบสวนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสหพันธ์รัสเซีย พบว่ามีสาเหตุจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในไส้กรอกและซาลามีซึ่งบริโภคแบบไม่ปรุงสุก ที่คนบริโภคไม่หมดแล้วนำไปเลี้ยงสุกร

ดังนั้น จากการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาค รวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนกับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกรมปศุสัตว์จึงได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) โดยล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้มีการประชุมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สภาหรือสมาคมวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หน่วยงานความมั่นคง

สำหรับการประชุมครั้งนัดแรกในวันนี้ (12ก.ย.) ปศุสัตว์ได้วางกรอบในการจัดทำแผนจะประกอบด้วย 7 ประเด็น คือ การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การสื่อสารความเสี่ยงและการเตือนภัย การเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรค เครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การควบคุมโรค และการฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากโรค ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที