ซื้อปุ๋ยยางวุ่นทุกปี “อัยย์ครอป” โวยถูกยกเลิกประมูล

การเปิดประมูลรับซื้อปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อนำไปให้ชาวสวนยางที่ขอรับการสงเคราะห์ในการปลูกทดแทนเมื่อโค่นยางแก่ทิ้ง มีปัญหาเกือบทุกปี โดยในปี 2560 กยท.เปิดประมูลปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์กว่า 64,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรากฏผลการประมูลเกิดข้อครหามากมาย ทั้งราคาประมูลสูงกว่าท้องตลาดและขั้นตอนไม่โปร่งใสเอื้อผู้ประมูลบางราย แม้บอร์ด กยท.จะออกมาชี้แจงว่า ราคาประมูลที่ได้นั้น “ต่ำกว่าราคากลาง” และทุกขั้นตอนอยู่ในกรอบและระเบียบของกฎหมาย แต่ไม่สามารถดับกระแสโจมตีที่เข้ามารอบทิศทางได้ ส่งผลให้ นายลักษณ์ วจนานวัช ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงปลายปี 2560 ต้องสั่งยกเลิกการประมูลและจ่ายเป็นเงินให้เกษตรกรแทน

ท่ามกลางข้อครหาที่ว่า มีการเปิดขายซองประมูลราคาเพียง 5 วัน และติดวันหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์รวม 2 วัน และให้ยื่นเสนอราคาประมูลหลังจากนั้นไม่กี่วัน จนมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยมาก และชนะการประมูลกันถ้วนหน้า มีการตั้งราคากลางไว้สูงและราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย แนวทางนโยบายและวิธีปฏิบัติที่กำหนดโดยบอร์ด กยท. และ กยท.ไม่มีความชัดเจนแน่นอน “กลับไปกลับมา”

มาในปี 2561 การเปิดประมูลรับซื้อปุ๋ยของ กยท.ด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ก็มีปัญหาอีก เมื่อบริษัท อัยย์ครอป จำกัด ประมูลขายปุ๋ยเคมีผสม (bulk blending) สูตร 20-8-20 จำนวน 13,803.90 ตัน ได้ไปในราคา 12,400 บาท/ตัน และ กยท.ก็ได้ประกาศในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ให้บริษัท อัยย์ครอป ชนะการประมูล

ในขณะที่คู่แข่งขัน คือ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่สามารถเข้ายื่นประมูลปุ๋ยรอบนี้ได้ ก็ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกรมบัญชีกลาง กรณี กยท.เห็นว่า บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี ขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลจากข้อกำหนดที่ว่า ผู้ยื่นเสนอขายปุ๋ยเคมีต้องมี 1 ผลงาน ในวงเงินไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันเครือข่ายเกษตรกร หรือหน่วยงานเอกชนที่ กยท.เชื่อถือ ปรากฏในประเด็นนี้ กรมบัญชีกลางมีความเห็นว่า สามารถนำผลงานมากกว่า 1 ผลงาน นำมารวมกันได้ไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท

ถือว่ามีคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูลขายปุ๋ยให้กับ กยท.ได้ จน กยท.ต้องยอมรับในความเห็นของกรมบัญชีกลางในที่สุด

ขณะที่ทางบริษัท อัยย์ครอป จำกัด คู่แข่งเองได้แย้งว่า แม้จะผ่านคุณสมบัตินำผลงานมากกว่า 1 ผลงาน มารวมกันไม่น้อยกว่า 18 ล้านบาท แต่ บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ก็ยังไม่ผ่านคุณสมบัติการเข้าประมูลอยู่ดี เพราะผู้เข้าประมูลต้องไม่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีเรื่องปุ๋ยเสื่อมสภาพ ปุ๋ยผิดมาตรฐาน ปุ๋ยปลอม หรือถูกพักใบอนุญาตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ตาม TOR ข้อ 2.14 เนื่องจากกรณีนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร้องทุกข์ดำเนินคดี ในความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 จำนวน 5 คดี และยังมีคดีอยู่ระหว่างสอบสวนดำเนินคดีอีก จึงได้ร้องเรียนไปยัง กยท.ให้เร่งรัดตรวจสอบคุณสมบัติบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด TOR เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561

แต่เอาเข้าจริงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กยท.กลับยกเลิกประกาศผู้ชนะการประมูลขายปุ๋ยยางสูตร 20-8-20 ไปอย่าง “หน้าตาเฉย” ร้อนถึงผู้บริหารบริษัท อัยย์ครอป เห็นว่า การประกาศยกเลิกไม่ให้บริษัท อัยย์ครอป ชนะการประมูลนั้น “เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและไม่ได้รับความเป็นธรรม” ทางบริษัทจึงได้มีหนังสือทวงถามผู้บริหาร กยท.แก้ไขปัญหาให้ถูกต้องกว่า 10 ครั้ง เพราะบริษัทอัยย์ครอป เสียหายมหาศาล เนื่องจากได้เตรียมการส่งมอบปุ๋ยและหมดค่าใช้จ่ายไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา กยท.กลับทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง ขอหารือถึงประเด็นคุณสมบัติของบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลว่า การที่ถูกกรมวิชาการเกษตรร้องทุกข์ว่า ผลิตปุ๋ยเสื่อมสภาพ ผิดมาตรฐาน ปุ๋ยปลอม หรือถูกพักใบอนุญาตปุ๋ยเพื่อการค้า และอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีนั้น “ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลหรือไม่” ทั้งที่ กยท.เป็นผู้ทำประชาพิจารณ์ในคุณสมบัตินี้เอง

แต่กลับไปถามกรมบัญชีกลางอีกรอบ และก็มีหลักฐานยืนยันจากสถานีตำรวจภูธรที่เกิดเหตุมาแล้ว

“เราจะไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก กยท.อีกครั้ง เพื่อให้มีการเซ็นสัญญารับมอบปุ๋ยเคมีจากเรา เพราะยังมีเวลาถึงเดือนตุลาคมนี้ในการส่งปุ๋ยไปให้ชาวสวนยางได้ใช้ และเรายังยืนยันขายปุ๋ยสูตรนี้ตามราคาเดิมที่ชนะการประมูล แม้ว่าขณะนี้ราคาจะขึ้นไปถึงตันละ 16,000 บาทแล้วก็ตาม” นายเรวัต ธรรมบำรุง ผู้บริหารบริษัท อัยย์ครอปกล่าว

ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ กยท.อีกครั้งหนึ่ง เพราะหากดำเนินการไม่โปร่งใสเท่าที่ควรตั้งแต่เริ่มต้น ความวุ่นวายก็จะตามมาไม่รู้จบ เพราะรู้กันอยู่ว่าการซื้อปุ๋ยปีละนับแสนตัน ถือเป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่เอกชนบริษัทขายปุ๋ยต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่ได้ปุ๋ย ถูกสั่งสอบวินัย และเกษตรกรไม่ได้ใช้ปุ๋ย ทำให้เกิดความเสียหายมากมายตามมา