ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เปลี่ยน ปตท.สู่ New S-Curve

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร”ลูกหม้อที่เติบโตใน ปตท.มานาน 36 ปี ขึ้นรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการ โดยชูนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” สานงาน ปตท. เพื่อเผชิญกับ6 ความท้าทายในอนาคต ซึ่งเกิดจาก 1) การเปลี่ยนแปลง megatrend เช่น technology disruptive การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าถูกลงกระทบต่อการใช้น้ำมัน 2) นโยบายภาครัฐ ซึ่งอาจจะมีทั้งเป็นผลบวกและส่งผลกระทบต่อ ปตท. เช่น การเปิดเสรีก๊าซ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการเลือกตั้ง

3) ประเด็นการยอมรับ-การสร้างวาทกรรมเชิงลบต่าง ๆ ที่ปตท.ถูกตั้งคำถามจากสังคม เช่น ราคาน้ำมันท่อก๊าซ ปาล์ม 4) business portfolio ซึ่ง ปตท.จะต้องเปลี่ยนไปสู่การทำน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง 5) ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งนับวันมีจะร่อยหรอ ส่งผลกระทบให้ธุรกิจต้องปรับตัว 6) องค์กรและการจ้างงาน

สำหรับนโยบาย “CHANGE” นั้นประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่

1) continuity สานต่อยุทธศาสตร์ 3D คือ do now, decide now และ design now 2) honesty ความซื่อสัตย์ เน้นจริยธรรมนำธุรกิจ คำนึงถึงประโยชน์อย่างสมดุล 3) alignment ขยายความร่วมมือเพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน สร้างพลังร่วม 4) new innovation solution มุ่งหาธุรกิจ new S-curve 5) good governance กำกับดูแลธุรกิจโดยยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล และ 6) excellence team work สร้างคนรุ่นใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีม

โดยในช่วงเวลา 1 ปี 8 เดือน จะขับเคลื่อนนโยบาย CHANGE เห็นชัดเป็นรูปธรรม โดยจะขยายการลงทุนแบบ new S-curve ทั้ง energy S-curve, smart S-curve และ bio S-curve ซึ่งอาศัยจุดแข็งของไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยาง ปาล์ม มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ไบโอฟูเอล, ไบโอเคมิคอล ยา เครื่องสำอาง โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ปตท. (บอร์ด ปตท.) ในเดือนธันวาคมนี้จะเห็นความชัดเจนถึงแผนการลงทุนพัฒนายาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม

ส่วนการลงทุนด้าน smart S-curve จะมีการพิจารณาใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น AI บล็อกเชน และต้องการสร้างฐานนวัตกรรมโดยใช้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) การพัฒนาไปสู่ธุรกิจ green ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม “ชาญศิลป์” ยังคงเดินหน้าภาระกิจค้างทั้งการประมูลบงกช เอราวัณ ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจเลือกพันธมิตรในธุรกิจ และทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ในเชิงลับ ก่อนที่จะมีการยื่นซองประมูลในเดือนนี้

ขณะที่ประเด็นบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ซื้อหุ้น 69.11% ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW จนกลายเป็นประเด็นว่าจะทำให้บริษัทที่มี “อำนาจเหนือตลาด” นั้น ชาญศิลป์อธิบายว่า เดิม GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,900 เมกะวัตต์จากภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่มี 30,000-40,000 เมกะวัตต์ต่อปี โดยตลาดนี้มีผู้เล่นมากถึง 30 ราย เมื่อซื้อ GLOW ทำให้มีกำลังผลิตอีก 3,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของตลาดเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด แต่เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ไฟในอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และเป็นการลดต้นทุนจากการ synergy ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะสรุปอย่างไร


ส่วนการปิดปมปัญหาสต๊อกปาล์มน้ำมันหายในบริษัท GCC ซึ่งเป็นบริษัท “หลาน ปตท.” นั้นได้ดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งคนในและคนนอก และที่สำคัญชาญศิลป์ยังได้วางระบบการสร้างธรรมาภิบาล จะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ “GRC” ขึ้นมาดูแลด้านธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำรอยอีก