กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเสรีภาคบริการอาเซียน บริบทใหม่สู่ศตวรรษที่ 21 (1)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ภาคบริการถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยปัจจุบันพบว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ภาคบริการเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของ GDP สำหรับสมาชิกอาเซียน ประเทศที่มีสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP สูงที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และไทย ตามลำดับ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 55 ของ GDP สำหรับไทย ภาคบริการมีการพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 50 ของ GDP และสร้างงานกว่าร้อยละ 40 ของการจ้างงานรวมของไทย ธุรกิจบริการของไทยที่มีศักยภาพโดดเด่น เช่น การก่อสร้าง การท่องเที่ยว การค้าปลีก บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ตั้งแต่ปี 2538 และทยอยเปิดตลาดภาคบริการภายใต้ AFAS อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดได้จัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ซึ่งจะเป็นชุดสุดท้ายภายใต้ AFAS โดยเน้นการขยายสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยร้อยละ 70 ในการจัดทำรายการสาขาธุรกิจบริการของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความเห็นจากหน่วยงานที่กำกับดูแลการค้าบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดช่วงเวลาที่มีการจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 1-10 ภายใต้ AFAS ตั้งแต่ปี 2542 ได้คำนึงถึงความพร้อมในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และข้อจำกัดด้านกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ส่งผลให้การเปิดตลาดภาคบริการของไทยอยู่ในกรอบกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ และไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย

นอกจากนี้ ไทยยังได้ระบุเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดไว้ในข้อผูกพันการเปิดตลาด เช่น กำหนดประเภทของนิติบุคคลที่อนุญาตให้เข้ามาจัดตั้งในไทย เฉพาะบริษัทจำกัดที่เข้ามาดำเนินธุรกิจภายใต้การร่วมทุน (joint venture) กำหนดให้กรรมการบริหารต้องมีสัญชาติไทยบุคคลหรือตัวแทนนิติบุคคลผู้ขอใบอนุญาตต้องมีสัญชาติไทย และสงวนสิทธิไม่ให้ต่างชาติถือครองที่ดิน เป็นต้น

สำหรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจได้คำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ข้อผูกพันจึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เพื่อป้องกันผลกระทบและรักษาภาวะการแข่งขันในประเทศ