เดินหน้าเซ็น “ILO” แรงงาน 188 เดิมพันใบเหลืองไอยูยู-ส.ประมงพบ “UN”

กระทรวงแรงงานยังไม่ถอยเดินหน้าพร้อมลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานบนเรือประมง หวังเดิมพันปลดล็อกใบเหลือง IUU ด้านสมาคมการประมงบอก ไม่ได้ต่อต้าน แต่ขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงาน แต่อนุกรรมการของกระทรวงไม่ยอมฟัง 

กรณีความต้องการของรัฐบาลไทยที่จะไปลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 (C188) ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกเรือประมงให้มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าบนเรือประมงนั้น

ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าของเรือประมงประกอบกับมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งที่จะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 นี้ ยังเกี่ยวพันไปถึงข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ทางด้านแรงงาน ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีด้านแรงงานภายในปี 2561 ซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สหภาพยุโรปจะถอนไทยออกจาก “ใบเหลือง” ในที่สุด

ล่าสุด พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเข้าพบกับ Mr.Steve Trent และคณะมูลนิธิยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม (EJF) กรณีการให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 188 ว่า รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงสุขภาพของแรงงาน โครงสร้างของเรือ เวลาในการทำงาน-ที่พักของลูกจ้าง-การจ่ายค่าจ้าง “ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำความเข้าใจกับภาคประมง เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายและไม่กระทบต่อเรือประมงพื้นบ้าน”

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายนนี้ สมาคมจะเดินไปทางหารือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ถ.ราชดำเนิน เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเจรจาหารือกับกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของการให้สัตยาบัน C188 “แต่ว่าไม่เป็นผล” เพราะคณะอนุกรรมการร่างกฎหมายยึดถือแนวทางของ ILO เป็นสำคัญ ซึ่งตรงนี้ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำประมงของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการไม่มีการผ่อนปรนและไม่นำเอาข้อเสนอของทางสมาคมเข้าไปบรรจุไว้

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับเงื่อนไขการให้สัตยาบัน C188 แต่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ โดยเฉพาะโครงสร้างเรือที่ต้องมีห้องน้ำ ห้องนอน โดยขอให้ยกเว้นเรือประมงเก่า และนำไปบังคับใช้เฉพาะเรือที่ต่อใหม่ ที่สำคัญโครงสร้างเรือไทยที่มีอยู่ไม่เหมาะแก่การต่อเติม และตามอนุมาตรา 1, 2 และ 3 เรือทุกลำที่ทำการประมงเพื่อการค้าขาย เรือที่ใช้ต้องมีการปรับเปลี่ยน ตรงนี้จะส่งผลกระทบกับประมงพื้นบ้าน ตรงนี้จึงทำให้สมาคมจะเดินทางไปหารือเพื่อนำข้อคิดเห็น และข้อมูลต่าง ๆ เสนอให้กับ ILO โดยตรงเอง” นายมงคลกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะเข้าพบกับ Mr.Graeme Buckley ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลและตอบข้อสักถามเกี่ยวกับอนุสัญญา C188

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คัดค้านการที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 โดยขอให้ชะลอการให้สัตยาบันออกไป

และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษา-วิเคราะห์กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประมง ก่อนที่จะยกร่างกฎหมายหรือเสนอกฎหมายฉบับใหม่ที่อนุวัติตามอนุสัญญา C188 เนื่องจากสมาคมพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบทบัญญัติกฎหมายหลายประการที่มีมาตรฐาน “สูงกว่า” ที่ ILO กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับที่ C188 เสียอีก