อีอีซีดันดีมานด์น้ำไฟพุ่ง รายได้ WHAUP ทะลุ 15%

WHAUP ผุด 2 โครงการค้าปลีกก๊าซธรรมชาติป้อนลูกค้าในนิคม เดินหน้าแผนโซลาร์รูฟท็อปเซ็นแล้ว 5 ราย

นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า ปี 2561 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ขยายตัว 10-15% จากแผนการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ที่ได้ขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอ็นจีดี 2 ธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มการก่อสร้างและพร้อมจำหน่ายในไตรมาส 4/2561 และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ที่จะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2562

ส่วนในปี 2562 คาดว่ารายได้จะเติบโตได้ถึง 15% จากที่ครึ่งปีแรก (ม.ค-มิ.ย. 2561) รายได้ติดลบ 3.3% มูลค่า 906.1 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้า SPP ใหม่รวมทั้งสิ้น 5 โรง ซึ่งจะเริ่ม COD 4 โรงปีนี้ อีก 1 โรงในต้นปีหน้า ซึ่งหากดำเนินการครบ 5 โรงจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 510.5 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำดิบมีโอกาสเติบโตได้ 10% จากครึ่งปีแรกมีรายได้ถึง 845.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งรายเดิมและรายใหม่รวมถึงการใช้น้ำของโรงไฟฟ้า

“พื้นที่ มีความต้องการใช้ไฟฟ้า และน้ำปริมาณมากส่งผลดีกับธุรกิจพลังงานและธุรกิจน้ำดิบของ WHAUP อย่างไรก็ตาม น้ำตอนนี้ยังมีเพียงพอทั้งจากแหล่งธรรมชาติ และบางบริษัทผันน้ำจากทะเลเพื่อเป็นน้ำดิบใช้เองในโรงงาน แต่เมื่อ EEC เกิดขึ้นเต็มรูปแบบก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะมีแนวทางอย่างไร แต่แน่นอนว่าน้ำมีเพียงพอในระยะยาว”

ในส่วนธุรกิจพลังงานจากการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปหลังจากที่บริษัทตั้งบริษัทลูก บริษัท ดับบลิวเอชเอ โซลาร์ จำกัด เพื่อขยายการลงทุนให้บริการในส่วนของธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นได้เจรจากับบริษัทลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมกลุ่ม WHA แล้ว 5-6 ราย กำลังการผลิต 4-5 เมกะวัตต์

ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเซ็นสัญญากับลูกค่ารายอื่นเพิ่มเติมรวมเป็น10 เมกะวัตต์ภายในปีนี้

ในแผนต่อไปจะขยายการติดตั้งและบริการโซลาร์รูฟท็อปนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ดูแลและรักษาระบบเอง รูปแบบเช่นบริษัทดับบลิวเอชเอโซลาร์ เป็นผู้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ทั้งหมดและขายไฟคืนให้กลับลูกค้า