หวั่นไทยเสี่ยงอหิวาต์แอฟริกัน คุมโรคไม่อยู่หมูตายยกฟาร์ม

ภาพจาก แฟ้มภาพ
กรมปศุสัตว์คุมเข้มเฝ้าระวัง โรคอหิวาต์แอฟริกันระบาดในหมู ออกประกาศห้ามนำเข้าหมูจากประเทศจีน 90 วัน ด้านสภาอุตฯแย้งน้อยไป แนะขยายเวลาห้ามนำเข้า 6 เดือน ฟาร์มหมูในประเทศกังวลหนักหวั่น “เอาไม่อยู่” เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ชี้โรคร้ายไม่ติดต่อถึงคน แต่ไม่มีวัคซีนรักษา เตือนภัยระวังทำลายอุตสาหกรรมหมูในประเทศ

การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (African Swine Fever หรือ ASF)ในจีน ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับอุตสาหกรรมหมูภายในประเทศ หลังจากที่โรคนี้พบการระบาดมาตั้งแต่ปี 1960 ในพื้นที่ Sub Sahara ทวีปแอฟริกันมากกว่า 20 ปี โดยการระบาดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างหนักมากในมณฑลเหลียวหนิงมีการฆ่าหมูตายไปกว่า 40,000 ตัวนั้น นับว่า “ใกล้ประเทศไทย” มาก และที่สำคัญก็คือ โรคนี้ยังไม่มีการรักษา และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แม้จะยังไม่มีรายงานการติดในคน แต่การระบาดจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการบริโภคเนื้อหมู

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศชะลอการนำเข้าหมู รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรจากจีน และประเทศที่มีการระบาดของโรค เป็นระยะเวลา 90 วัน ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2561 ถึง 3 ธันวาคม 2561 และเร่งประสานด่านกักกันและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดชุดปฏิบัติการสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนซากสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นทางจากประเทศจีน รวมถึงเที่ยวบินที่มาจากประเทศต้นทางจากจีน พร้อมทั้งจะประสานประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม-สปป.ลาว-กัมพูชา เฝ้าระวังตามด่านกักกันโรคทั่วประเทศ

แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการนำเข้าหมูจากจีน แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2561) ไทยมีการนำเข้าหมูคิดเป็น 17.25 ล้านบาท หรือลดลง 84% โดยมีการนำเข้าจาก 3 ประเทศเท่านั้น คือ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และแคนาดา

สภาอุตฯขอให้คุมเข้ม 6 เดือน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าว “ไทยไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน”

หากพบว่า มีการระบาดในฟาร์มมีทางแก้ทางเดียวก็คือ ต้องทำลายและฝังดินเท่านั้น ส่วนการนำเนื้อหมูหรือชิ้นส่วนมาประกอบอาหาร เมื่อผ่านความร้อนน่าจะปลอดภัย แต่ต้องระวังเรื่องการนำเข้าสินค้าหมูและชิ้นส่วนบริเวณด่านที่มีการนำเข้า การที่กรมปศุสัตว์บล็อกการนำเข้าหมูจากจีน และประเทศที่มีความเสี่ยงจาก 90 วัน “อาจจะไม่เพียงพอ น่าจะเกิน 6 เดือนเป็นอย่างน้อย”

“จีนถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกหมูและชิ้นส่วนอันดับ 5 ของโลก มีตลาดส่งออกหลักที่ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย บรูไน บราซิล แทนซาเนีย แต่ไม่มีการส่งออกมาไทย ส่วนการผลิตและการส่งออกหมูของไทยเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ปริมาณน้อยมาก (2560 ส่งออก 2,771 ตันมูลค่า 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง9.3% ตลาดหลักอยู่ที่ฮ่องกง-ลาว-มาเลเซีย)

ด้านนายเดวิด เลา ชิไว ประธานกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและกลุ่มเครื่องปรุง สมาคมผู้ผลิตอาหารแปรรูป และประธานกรรมการ บริษัท ดูฟู้ด จำกัด ผู้รับผลิตอาหารพร้อมรับประทานสำหรับบนเครื่องบินกว่า 10 สายการบิน กล่าวว่า การระบาดของอหิวาต์แอฟริกันในหมูจากจีน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานสำหรับเสิร์ฟบนเครื่องบิน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีเทคโนโลยีสามารถผลิตสินค้าอาหารพร้อมรับประทานคุณภาพสูง โดยเฉพาะอาหารที่จัดเสิร์ฟบนเครื่องบินสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องแช่เย็น และที่สำคัญ การผลิตส่วนใหญ่จะใช้ไก่เป็นวัตถุดิบมากกว่าหมู

ฟาร์มเชื่อสุดท้ายไทยไม่รอด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังฟาร์มหมูรายใหญ่หลายรายในประเทศให้ความเห็นว่า เท่าที่ประเมินขณะนี้มีโอกาสหลายช่องทางที่เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมูจะแพร่ระบาดเข้ามาในไทย แม้กรมปศุสัตว์จะห้ามนำเข้าและควบคุมทุกด่านอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังมีหลายช่องทางที่ลักลอบนำเข้ามาได้

“ตอนนี้ประเทศไทยต้องพยายามยื้อไม่ให้โรค ASF เข้ามาให้นานที่สุด และที่น่ากลัว คือ โรคนี้ติดในหมูแล้วรุนแรง ส่วนใหญ่ตาย 100% เชื้อตัวนี้ยังไม่มีการรักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน หากเกิดการระบาดจะเสียหายหนักและรุนแรงมาก เจ้าของฟาร์มรายหนึ่งกล่าว

เท่าที่ผ่านมาเมื่อเกิดโรคระบาดในหมู กรมปศุสัตว์ก็จะประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหมู แต่การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก มีการสั่งให้กลบฝังสัตว์ที่ตาย ส่วนสัตว์ที่เหลืออยู่อาจถูกสั่งให้ปิดฟาร์มและทำลายทิ้งทั้งหมดเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป แต่ในทางปฏิบัติที่ใคร ๆ ในวงการปศุสัตว์รู้กันดีว่า เจ้าของฟาร์มหลายแห่งมักแอบ “ลักลอบ” ทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ถูกสั่งให้ทำลายไปขาย “สิ่งที่กังวลก็คือ ในจีนมักใช้มูลของสัตว์ เช่น ขี้หมูไปทำปุ๋ยรดผักและผลไม้ หากขี้หมูมาจากหมูที่ติดโรค ASF เชื้อก็จะปนเปื้อนในผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจากจีนด้วย

น.สพ.เกียรติภูมิ พฤกษะวัน ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการสายฟาร์มและอาหารสัตว์ บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด สาขา 1 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่ม VPF มีแม่ แต่ทางฟาร์มได้ดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด