“ปิดทองหลังพระ” ใส่ใจ3จังหวัดชายแดนใต้ ใส่เงิน50ล้านประคบประหงมทุเรียนดี ส่งออกปีหน้า2.5หมื่นต้น

คณะกรรมการบริหารสถาบันปิดทองหลังพระฯได้มีมติอนุมัติ 50 ล้านบาท พร้อมจับมือกระทรวงเกษตร และกระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าขยายผลการปลูกทุเรียนคุณภาพดี เพื่อการส่งออกอีก 3,000 ต้น ในสามจังหวัดชายแดนใต้

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ เปิดเผยว่าโครงการต้นแบบพัฒนาทุเรียนคุณภาพดีในจังหวัดยะลาปีแรกที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีเกษตรกร 18 รายที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลผลิตทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นรายละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท/ครัวเรือน/ 1 ฤดูการผลิต

“หลังจากเรียนรู้วิธีการดูแลผลทุเรียนและมีการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการขายทุเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 เท่าต่อต้น เมื่อเทียบกับราคาตลาดและจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนด้านการรับซื้อ ทำให้เกิดความมั่นใจในการขยายจำนวนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น”

โดยจะมีการเพิ่มพื้นที่ จำนวนต้นทุเรียน ทั้งในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วม 1,250 ราย จำนวนทุเรียน 25,000 ต้น ผลผลิตทุเรียนเกรดเอบีไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัน

ทั้งนี้จะระดมความร่วมมือจากทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย โดยนาย พีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสนใจและยินดีร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว

นอกเหนือจากโครงการพัฒนาทุเรียนคุณภาพแล้ว สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยังจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการพัฒนาในทุกพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเห็นและความต้องการของประชาชนในแต่ละแห่งด้วย เช่น การร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาแปลงดอกไม้ในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ แก่นมะกรูด อุทัยธานี เพื่อส่งเสริมธุรกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ติดกับอุทยานห้วยขาแข้ง

และยังได้ร่วมมือกับกรมชลประทาน ในการซ่อมแซมและบำรุงแก้มลิงหนองเลิงเปือย จ.กาฬสินธ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่

ในส่วนการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตร ได้จับมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร ดำเนินงานร่วมกับชาวบ้านโป่งลึกและบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาพืชผักปลอดภัยในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โรงสีชุมชนเพื่อตอบความต้องการอาหารปลอดภัยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในพื้นที่ จ.อุดรธานี

ทั้งนี้ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ จึงร่วมมือกับกรมประมง ในการส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ ซึ่งจะเริ่มต้นในพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอตลอดปี ได้แก่ บริเวณฝายสากอ จังหวัดนราธิวาส และบ้านโป่งลึก แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วย