รีวิว 1ปี หลัง “METI” เยือนไทย MOU เห็นผลฮิตาชิผุดศูนย์ลูมาดา แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรึกษาด้าน IoT

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 บริษัท ฮิตาชิ จำกัดและบริษัท ฮิตาชิ เอเชีย จำกัด “เปิดศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Lumada Center Southeast Asia)” ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์แรกในโลกนอกประเทศญี่ปุ่น ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ศูนย์ลูมาดาเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) เพื่อการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะในเฟสแรกให้กับผู้ประกอบการทุกรายที่สนใจจะใช้ IoT เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีระดับสูง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า
ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจาก MOU ระหว่าง อีอีซี กับ บริษัทฮิตาชิ ที่ได้ลงนาม
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560

ในระหว่างการเยือนอีอีซี ของ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครั้งนั้นท่านได้นำแนวทาง Connected Industry มาเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันประเทศไทย ให้นำระบบอัตโนมัติ (Automation) และ IoT มายกระดับให้ฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทคนไทยในประเทศ ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับฐานการผลิตโดยโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะขยายธุรกิจ IoT แล้วยังทำงานเสมือนเป็น “พี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาด้าน Connected Industry” ให้กับบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยและบริษัทไทย โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เพื่อให้การปรับตัวเข้าสู่ IoT เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ ภารกิจสำคัญของศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ

1.สร้าง IoT แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ผ่านการเชื่อมต่อและวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของลูกค้า (big data analytics) 2.สร้าง solution ผ่านการใช้เทคโนโลยี (co-creating digital solutions) 3.นำเครื่องมือ AI ของศูนย์ลูมาดา รวมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการดำเนินงาน
(Operational : OT) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) เข้าด้วยกันไปปรับใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจหลากหลายและการใช้งานในรูปแบบต่างๆ

ศูนย์ลูมาดาตั้งเป้าที่จะเข้าถึงโรงงานทั่วประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยระยะแรกเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) จากหลากหลายเครื่องมือ เช่น การติดตามและตรวจสอบจากระยะไกล (Distance monitoring) เป็นต้น และคาดว่าในระยะต่อไปจะยกระดับสู่การจัดการระหว่างโรงงานต่อโรงงาน (Inter-Factories) ด้วยการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ