รับมือวิกฤตอุตฯอ้อย-น้ำตาล ราคาขั้นต้นวูบ 680 บาทชาวไร่พบ “อุตตม”

วิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลไทยเริ่มแล้ว หลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/62 ร่วงลงมาเหลือแค่ตันละ 680 บาท ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้สูงถึง 135 ล้านตัน ส่งผลชาวไร่อ้อยทั่วประเทศรวมตัวเข้าพบ “อุตตม”

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงปริมาณอ้อยปีการผลิต 2560/2561 เข้าหีบสูงถึง 135 ล้านตัน ซึ่ง “สูงกว่า” ปกติถึง 40%(92 ล้านตันในปีการผลิต 2559/2560) ดังนั้น สอน.จึงคาดการณ์ปริมาณอ้อยจะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2561/2562 ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เมื่อคำนวณแล้วจะเฉลี่ยอยู่เพียง 680 บาท/ตันเท่านั้น โดยเตรียมประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในเดือนตุลาคมนี้ โดยราคาอ้อยที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย โดยจะส่งเสริมให้มีการนำ “น้ำตาลส่วนเกิน” ที่ส่งออกในราคาต่ำไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อผสมน้ำมันเบนซินในการจำหน่ายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งแนวทางนี้จำเป็นต้องหารือกับทางกระทรวงพลังงานในการพิจารณาต่อไป เนื่องจากหากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกผลิตและจำหน่ายมากขึ้น ชาวไร่อ้อยก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อความยั่งยืนของระบบอ้อยและน้ำตาลทราย สอน.ยังเตรียมส่งเสริมให้มีการทำ “เกษตรแปลงใหญ่” โดยการรวมพื้นที่ปลูกอ้อยรายย่อยเข้ามาบริหารร่วมกันเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ “กลุ่มน้ำตาลมิตรผล” ได้ดำเนินการจัดทำต้นแบบการทำไร่อ้อยแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งอยู่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการสนับสนุนจากโครงการสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อย ดอกเบี้ย 2% โดยในปีนี้ (2562) เตรียมที่จะของบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 3,000 ล้านบาท (งบฯ 3 ปี) และใช้ไปแล้ว 1,800 ล้านบาท

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทีเดียว เมื่อราคาอ้อยขั้นต้นตกลงมาอยู่ที่ 680 บาท/ต้นอ้อย “กระทบต่อรายได้ชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก” ดังนั้น ทางสมาพันธ์ได้ยื่นหนังสือต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อขอความช่วยเหลือ และในวันที่ 19 กันยายนนี้สมาคมชาวไร่อ้อยเตรียมเข้าพบนายอุตตมเพื่อหารือผลกระทบที่เกิดและแนวทางรวมถึงวิธีการช่วยเหลือก่อนเปิดหีบอ้อยในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

“แนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่เป็นไปได้และไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ก็คือ การขอให้รัฐช่วยลดต้นทุนในส่วนของที่เป็นปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ให้มีราคาที่ถูกลงจากปัจจุบันการปลูกอ้อย 1 ไร่/ปุ๋ย 1 ลูก ราคา 500-600 บาท น้ำมันที่ใช้ในเครื่องจักรอย่างเครื่องตัดอ้อย หากได้รับน้ำมันที่มีราคาถูกลงก็จะช่วยลดต้นทุนให้ชาวไร่อ้อยได้มากขึ้น ส่วนปริมาณปลูกอ้อยลดลงเพราะราคาตกนั้นในครั้งนี้นับว่ารุนแรงที่สุดเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นมีกองทุนอ้อยฯที่ไปกู้เงินแล้วเอาเงินเข้ามาช่วยชาวไร่โดยรัฐ 150-160 บาท แต่กลายเป็นว่าการดำเนินการแบบนั้นเท่ากับรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนจึงขัดกับข้อตกลง WTO และประเทศไทยถูกบราซิลฟ้อง มาปีนี้เราไม่มีเงินช่วยจากรัฐบาลแล้ว ดังนั้น ทางออกก็คือต้องลดต้นทุนการปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้” นายนราธิปกล่าว

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปีการผลิต 2561/62 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 125-130 ล้านตัน ถือว่า “ลดลงจากปีที่แล้วไม่มาก” แต่สถานการณ์ตอนนี้ก็คือ ราคาน้ำตาลโลกตกลงมากส่งผลกระทบมายังตลาดในประเทศของไทยแน่นอนทั้งในส่วนของโรงงานน้ำตาลและตัวชาวไร่อ้อยเอง ทางออกในขณะนี้และเพื่อสร้างความยั่งยืนในส่วนของฝั่งชาวไร่อ้อยก็คือ จะต้องทำให้ต้นทุนลดลงด้วยการเพิ่มปริมาณอ้อยโดยไม่ใช่การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น และให้มีคุณภาพยีลด์/ไร่สูงขึ้น

โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาลก็ต้อง “ขจัด” น้ำตาลออกไป ต้องลดต้นทุนการผลิตน้ำตาล ซึ่งขณะนี้ทุกโรงงานทำอยู่ เช่น แทนที่จะผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียวต้องสามารถนำไปทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น เอทานอล การทำเชื้อเพลิงไปผลิตชีวมวล เป็นต้น ขณะเดียวกัน เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าคอมมิวนิตี้จึงต้องลดปริมาณ “ซัพพลายลง” ในทางจิตวิทยาจะส่งผลต่อราคา


“ไม่ว่าจะชาวไร่หรือโรงงานปีนี้ต้องช่วยกันมากขึ้น เราใช้เวลาหารือกันมาตลอด และเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐต้องเข้ามาช่วย แต่เราจะใช้เงินจากกองทุนอ้อยฯมาช่วยแบบเดิมไม่ได้แล้ว หลายแนวทางเราคุยกันและมีทางออก แต่เรายังไม่มีวิธีที่จะใช้มันโดยต้องไม่ผิด WTO”