ลุ้นข้าวหอมมะลิปี”61ทะลัก น้ำฝนดี-แนะชาวนาขึ้นยุ้ง

ส.ผู้ส่งออกข้าวฯมองสวนทาง ก.เกษตรฯ คาดการณ์ผลผลิตมะลินาปี”61/62 อีสานทะลัก เตรียมจัดทัพลงพื้นที่ ต.ค.นี้ พร้อมเตือนรัฐปล่อยบริษัทฮุบนาแปลงใหญ่ เสี่ยงสัญญาไม่เป็นธรรม ซ้ำรอยคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งในอดีต

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มผลผลิตข้าวหอมมะลิที่จะออกสู่ตลาดปลายปีนี้ อาจลดลงเหลือประมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก จากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ภาคอีสานตอนบนฝนจะดี แต่ในเขตภาคอีสานตอนกลางและภาคอีสานตอนใต้เทียบกับปีการผลิต 2559/2560 ที่ภาคอีสานประสบปัญหาน้ำท่วมกว่า 3 ล้านไร่ ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิพุ่งขึ้นเป็นตันละ 17,000-18,000 บาท โดยจะร่วมกับสมาคมโรงสีข้าวไทยสำรวจผลผลิตอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าข้าวหอมมะลิปีนี้จะยังมีราคาสูง

ตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปีการผลิต 2561/2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 33 ล้านตันข้าวเปลือก คาดว่าในส่วนข้าวนาปีจะมีต่ำไม่เกิน 24 ล้านตันข้าวเปลือก แต่จะได้ครบตามเป้าหรือไม่นั้นต้องดูปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก และการส่งเสริมการปลูกข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว และผัก ซึ่งจะมีการสำรวจลงทะเบียนให้เสร็จภายในปีนี้ รัฐจะให้แรงจูงใจทั้งการชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 0.01% ต่อปี การดึงภาคเอกชนรายใหญ่มารับซื้อ และการนำระบบประกันภัยพืชผลมาใช้ เป็นต้น เพื่อได้ถึงเป้าหมาย 2 ล้านไร่

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือนตุลาคมนี้จะลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2561/2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง คาดว่าแนวโน้มจะมีปริมาณผลผลิตมากกว่าปีก่อน

เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่สูงอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่่มีความสำคัญ เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ส่วนในพื้นที่บางจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งมีเพียงจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ประกอบกับพื้นที่การปลูกข้าวหอมจังหวัดมีมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ปลูกไปยังภาคกลาง

จากกรณีที่มีปัญหาการร้องเรียนว่าโรงสีในบางพื้นที่มีการตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกตันละ 4,000-5,000 บาทนั้น ข้อเท็จจริงคือมีข้าวที่ประสบปัญหาจมน้ำ เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตข้าวของโรงสีมีถึง 100 ล้านตันต่อปี แต่ไทยมีข้าวเปลือกมีอยู่แค่ 30 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาชะลอการขายโดยเก็บเข้ายุ้งฉาง และแก้ปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายของสถาบันการเงิน

“ในระยะยาวรัฐบาลควรมีหน่วยงานที่ดูแลวางแผนการผลิตเหมือนจีน ส่วนนโยบายนาแปลงใหญ่เป็นนโยบายที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต แต่หากให้บางบริษัททำก็ยังต้องระวัง เพราะแม้ว่าบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ มีการบริหารจัดการที่ดี แต่รัฐต้องดูแลเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร เพราะในอดีตก็เคยมีการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งแต่ไม่สำเร็จ มักติดปัญหาการแบ่งปันผลประโยชน์ว่ายุติธรรมหรือไม่ ถ้าในกรณีที่ราคาตลาดมีการปรับต่ำลงกว่าราคาที่ประกันรับซื้อไว้ บริษัทจะทำอย่างไร”

ทั้งนี้ สมาคมเตรียมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และสุพรรณบุรี นำร่องทดลองทำนาแปลงใหญ่ ในปี 2562/2563 โดยเข้าไปให้ความช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ และการรับซื้อจากเกษตรกร