เปิดเสรีภาคบริการอาเซียน บริบทใหม่สู่ศตวรรษที่ 21 (จบ)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ AFAS ทุกประเทศ

สมาชิกอาเซียนมีการเปิดตลาดบริการในระดับที่ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 100 สาขาย่อย โดยการเปิดเสรีภาคบริการจะทำให้ไทยพร้อมรับการลงทุนคุณภาพจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยต้องการให้เข้ามาเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการของไทย อาทิ บริการด้านการวิจัยและพัฒนา บริการด้านการให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการ บริการธุรกิจ บริการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านการโรงแรมและร้านอาหาร บริการด้านสุขภาพ บริการเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ สถาบันฝึกอบรม การจัดงานแสดงสินค้า การจัดการประชุม และการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากที่อาเซียนได้เปิดตลาดบริการภายใต้ AFAS ไม่พบว่านักลงทุนหรือผู้ให้บริการของไทยใช้ประโยชน์ภายใต้ AFAS เนื่องจากกฎระเบียบหรือมาตรการของสมาชิกอาเซียนเปิดกว้างมากกว่าข้อผูกพัน


ในความตกลง AFAS แต่อาเซียนก็เห็นประโยชน์ของการเปิดเสรี และจะยังคงเดินหน้าจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ที่มีความทันสมัยเรียกว่า ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA) ซึ่งจะนำมาใช้แทน AFAS โดยความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่จะมีคุณภาพ มีมาตรฐานสูงครอบคลุมในทุกสาขาบริการ เอื้อต่อการเปิดเสรีการค้าบริการในระดับสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลการจัดทำความตกลงภายในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2562