หวั่นโรงสีเดี้ยงทุบตลาดข้าวนาปี กระทุ้งรัฐบาลอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่อง

ปัญหาสภาพคล่องเรื้อรัง ทุบธุรกิจโรงสีเดี้ยงครึ่งประเทศ ส.โรงสีข้าวไทยหวั่นการรับซื้อข้าวเปลือกนาปี 61/62 สะดุด หลายจังหวัดไม่มีโรงสีสำรอง แนะกรมการค้าภายในจัด “ตลาดนัดข้าวเปลือก” เสริม ให้สิทธิประโยชน์กลุ่มโรงสีที่เข้าช่วยซื้อ ส่วนแบงก์ “กรุงไทย-กรุงเทพ” ชี้ NPL ยังไม่หยุดต้องคุมเข้มปล่อยกู้

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าว เปิดเผยว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหาสถานการณ์ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิปีการผลิต 2561/2562 ถูกกดราคาลงเหลือตันละ 4,000 บาท ทั้งที่ยังมีชาวนายังไม่ได้เกี่ยวข้าวนั้น หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าประเด็นนี้อาจเชื่อมโยงกับกรณีที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวประสบปัญหาสภาพคล่อง ต้องปิดกิจการลงกว่า 50% ในหลายจังหวัด เช่น จ.พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุบลราชธานี เป็นต้น

สาเหตุมาจากสถาบันการเงินลดวงเงินและเพิ่มความเข้มงวดในการให้แพ็กกิ้งเครดิต ประกอบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาโรงสีที่เป็นคลังให้เช่าฝากเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำไม่ได้รับค่าเช่าฝากเก็บที่ค้าง และถูกยึดหนังสือค้ำประกัน แถมถูกเรียกค่าเสียหายนับพันล้านบาท

“จีดีพีโต 3-4% แต่ธุรกิจโรงสีไม่ได้ประโยชน์ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูด มีหลายจังหวัดโดยเฉพาะพิจิตร พิษณุโลก ปิดกิจการไปมากมาย จ.สุโขทัยเหลือที่ทำการจริง ๆ แค่ 1-2 โรงเท่านั้น รวมทั้งกำแพงเพชร อุตรดิตถ์ จนถึงเชียงราย ส่งผลให้โรงสีที่เคยมีกำลังการผลิตสูงกว่าปริมาณข้าวเปลือก 4 เท่า ปัจจุบันเหลือเพียง 2 เท่า หรือ 60 กว่าล้านตันเท่านั้น น่าห่วงว่าถ้าหากผลผลิตข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก ๆ จะไม่มีโรงสีรับซื้อ”

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัญหาโรงสีปิดตัวและยุติการรับซื้อข้าวชั่วคราวเกิดจาก 2-3 สาเหตุ คือ 3-4 ปีก่อนราคาข้าวตกต่ำลงมาก ประกอบกับสถาบันการเงินลดวงเงินแพ็กกิ้งเครดิตภาพรวมลง 40-50% ธุรกิจโรงสีที่เคยเกิดขึ้นจนเฟ้อสมัยโครงการรับจำนำประสบปัญหาการแข่งขันกันรุนแรง แย่งรับซื้อข้าวทำกำไรไม่ได้ และแม้ปัจจุบันสถาบันการเงินได้ผ่อนปรนการให้แพ็กกิ้งเครดิต โดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้เป็นราย ๆ แต่เงื่อนไขเข้มงวดมากขึ้น ทำให้โรฟงสีบางแห่งปิดกิจการ บางแห่งหยุดชั่วคราวไม่สามารถประเมินได้ว่าโรงสีลดลงมากน้อยเพียงใด แต่บางพื้นที่กระจายไปไม่ทั่วถึง เช่น ภาคเหนืออย่าง จ.สุโขทัย อาจจะมีจุดรับซื้อข้าวเปลือกนาปีน้อยหรือไม่เพียงพอ

“ผลจากการปิดตัวทำให้โรงสีที่เคยเฟ้ออาจกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งหากคำนวณในแง่กำลังการผลิตภาพรวม แม้จะลดลงแต่ก็ยังมีเพียงพอรองรับข้าวเปลือกที่จะออกสู่ตลาด แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการรับซื้อข้าวเปลือกนาปี คือ บางพื้นที่ที่มีโรงสีน้อย อาจไม่มีใครไปรับซื้อ แต่ไม่กระทบราคารับซื้อที่จะยังเป็นไปตามกลไกตลาด”

แนวทางออก คือ ขณะนี้เกษตรกรสามารถขายผ่านท่าข้าวซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือในส่วนกรมการค้าภายในก็จัดโครงการตลาดรับซื้อข้าวเปลือกกระจายลงพื้นที่ต่าง ๆ ขอความร่วมมือโรงสีเข้าช่วยรับซื้อ อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการช่วยเหลือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการตามความเหมาะสม

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในส่วนของสินเชื่อผู้ประกอบการโรงสีที่มีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันธนาคารสามารถชะลออัตราการเพิ่มขึ้นของ NPL ได้มากแล้ว แต่ NPL ก็ยังมีเกิดขึ้น สำหรับปีนี้ธนาคารยังปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มโรงสีอยู่ แต่เน้นลูกค้าที่คุณภาพ มีวินัยการเงินดีมากขึ้น

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อติดตามดูแลลูกค้ากลุ่มโรงสีข้าวใกล้ชิด เวลานี้ยังไม่ได้เป็นหนี้ที่เสียหายมากนัก สินเชื่อปล่อยใหม่ก็ยังมีการปล่อยกู้อยู่ตามฤดูกาลผลิต แต่ระมัดระวังมากขึ้น