เมืองใหม่สมาร์ทซิตี้ชะงัก รอแผนแม่บทส่งเสริมลงทุน

เร่งแผนแม่บทสมาร์ตซิตี้ หลังผ่านมา 4 เดือนยังไม่มีใครได้รับ BOI อ้างเหตุสับสนขอบเขต เมืองอัจฉริยะคืออะไร  รัฐตั้ง “ไพรินทร์” คุมพื้นที่ ฟากเอกชนตั้งเป้า “พหลโยธิน-ภูเก็ต-อมตะซิตี้” ด้าน ปตท.พร้อมแจม “บางซื่อ” เมืองอัจฉริยะ 3 แสนล้าน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) เมื่อเร็ว ๆนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าของ “เมืองอัจฉริยะ (Smart City)” ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ด หลังจากได้มีการอนุมัติมาตรการส่งเสริมลงทุนเมืองอัจฉริยะไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปก็คือ การกำหนดสเป็กว่า “แบบไหนถึงเรียกว่า smart city”เพื่อดูในรายละเอียดของโครงการ เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มี “แผนแม่บท Smart City” อย่างชัดเจน

“ขณะนี้หลักเกณฑ์ของเมืองอัจฉริยะยังไม่ออกประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมันยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือการทำงานกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ทำอย่างไรพื้นที่ธรรมดาถึงจะเป็น smart city ได้ ถึงจะใช้เวลานานในการทำรายละเอียด แต่เราก็เพิ่งจะเสนอมาตรการไป ภายในปีนี้ยังไงก็ต้องเกิด smart city ให้ได้ และเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเอาอุปกรณ์ไปติดตั้งแล้วบอกว่า ชั้นเป็น smart city แต่ต้องมี road map ว่าด้วย smart city ให้ชัดกว่านี้” น.ส.ดวงใจกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนา Smart City อยู่แล้วโดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการมาจาก 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคม และยังมีคณะอนุกรรมการอีกหลายส่วนที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่อง smart city อยู่

ยังไม่มีใครได้ BOI

ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการเมืองอัจฉริยะ (smart city) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง (smart mobility) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (smart people) ด้านความปลอดภัย (smart living) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (smart economy) ด้านบริการจากภาครัฐ (smart governance) และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (smart energy & environment) โดยจะให้การส่งเสริมการลงทุนใน 2 ประเภทกิจการ คือ

1) ประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ 2) ประเภทกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงิน) หากตั้งอยู่ใน EEC จะได้รับลดหย่อน 50% อีก 5 ปี แต่ที่ผ่านมาปรากฏคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังไม่ได้ให้การส่งเสริมกิจการเมืองอัจฉริยะ (smart city) แต่อย่างใด

ตั้ง “ไพรินทร์” ดูพื้นที่เอกชน

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่เก่าของรัฐอยู่แล้วจะถูกพัฒนาและเสนอให้เป็น smart city เช่น แหลมฉบัง, EECd-EECi กับส่วนที่เป็นพื้นที่ใหม่ของเอกชน เช่น ศรีราชา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ที่ยื่นขอเข้ามา ล่าสุดจึงได้มีการแต่งตั้งให้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบดูแลส่วนของพื้นที่ใหม่นี้

“smart city คือ พื้นที่เมือง ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม ดังนั้น กฎระเบียบ-แพ็กเกจของ BOI ที่ออกมาจะต้องครอบคลุมไปในส่วนของพื้นที่เอกชนด้วย มาตรการส่งเสริมก็ต้องให้เหมาะกับพื้นที่ ตรงนี้ควรที่จะเป็น smart city ยังไง ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องปรับแก้ไขกันอยู่” นายคณิศกล่าว

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตะพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า smart city ตามแนวคิดของรัฐคือ การทำตามแผนโดยใช้ digital Thailand เพื่อให้ไทยเป็น 4.0 และต้องการให้โตทั้งในด้านเศรษฐกิจ-สังคม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การวางโครงสร้างพื้นฐานจึงจำเป็น เป้าหมายจึงต้องการให้ทุกจังหวัดเป็น smart city ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมี 7 จังหวัดที่กำลังพัฒนาเป็นเป้าหมายของ smart city คือ ภูเก็ต (จะเห็นเป็นที่แรก), เชียงใหม่, ขอนแก่น, กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC (ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา)

นำร่องพหลฯ-ภูเก็ต-อมตะซิตี้ 

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงแผนจะพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ Smart City ใน 7 จังหวัด 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ ที่ย่านพหลโยธิน จำนวน 2,325 ไร่ และย่านปทุมวันบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภูเก็ต, เชียงใหม่ บริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย่านนิมมานเหมินท์, ชลบุรี ที่อมตะนคร-แหลมฉบัง, ระยอง ที่อำเภอเมือง, ฉะเชิงเทรา ที่อำเภอเมือง (แปดริ้ว) และขอนแก่น บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น

“เราจะนำร่องที่ย่านพหลโยธิน ภูเก็ต และอมตะนคร ให้เป็นรูปธรรมภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น ASEAN Smart City Network โดยย่านพหลโยธิน มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เนื่องเป็นเจ้าของที่ดิน และ ปตท.มีความสนใจจะร่วมพัฒนาด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาความเป็นเมืองอัจฉริยะ อยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดเกณฑ์ ซึ่งในวันที่ 26 กันยายนนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน จะมีการพิจารณาเรื่องนี้

“ผู้ที่จะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนาขึ้นมา พร้อมกับมีเจ้าภาพรับผิดชอบโครงการชัดเจน โดยแผนที่จะเสนอจะต้องมีอย่างน้อย 2 ด้านที่ต้องมี คือ ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ที่เหลือจะเป็นด้านไหนก็ได้ แล้วแต่ผู้พัฒนาโครงการจะเสนอมาให้คณะกรรมการพิจารณา เมื่อผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วถึงจะมีการขึ้นทะเบียนว่า พื้นที่นั้น ๆ เป็นเมืองอัจฉริยะ และไปยื่นขอสิทธิประโยชน์จากBOI ส่วนรูปแบบการลงทุนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละพื้นที่” นายชัยวัฒน์กล่าว

ปตท.แจม Smart City บางซื่อ 

ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ปตท.สนใจจะลงทุน smart city ย่านบางซื่อ ซึ่ง ร.ฟ.ท. องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ร่วมกันศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2,325 ไร่ และจะนำผลศึกษาของ ปตท.มาร่วมพิจารณาด้วย โดยรูปแบบลงทุนให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี หรือรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง ใน 15 ปีแรกใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซนระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท แต่ละเฟสมีการลงทุน 5 ส่วน 1) เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศ ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุม 2) สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบสมาร์ทซิตี้ 3) โครงข่ายคมนาคม เช่น BRT 4) โครงข่าย

การพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ระบบกักเก็บน้ำ และ 5) โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำโดย 5 ปีแรกเริ่มพัฒนาโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ผ่านคณะกรรมการ PPP ไปแล้ว ให้สัมปทานเอกชนบริหาร 30 ปี ลงทุน 11,573 ล้านบาท

“ปตท.ร่วมกับญี่ปุ่นจะพัฒนาย่านบางซื่อเป็น smart city ต่อยอดกับโครงการเอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จะเริ่มจากลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์อุปโภคบริโภค เช่น ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น ทดแทนการใช้แอร์ ช่วยประหยัดพลังงาน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต และพลังงาน ขายในโครงการรองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านบางซื่อ จากนั้นถึงจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ปตท.เสนอการร่วมทุนกับร.ฟ.ท. เป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ” แหล่งข่าวกล่าว