ยอดส่งออกส.ค.”61 ทำนิวไฮ สงครามการค้าไม่สะเทือน

ยอดส่งออก ส.ค. 61 ทะลุ 2.2 หมื่นล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตลาดสหรัฐพลิกกลับมาบวก คาดทั้งปี”61 โตตามเป้า 9% จับตานำเข้าเครื่องบินทำ “ยุโรป” ติดลบครั้งแรกในรอบ 16 เดือน 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการส่งออกมา โดยมีการขยายตัว 6.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดี

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,383 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 22.8% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 558 ล้านเหรียญสหรัฐส่งผลให้การส่งออก 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2561 มีมูลค่า 169,030 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% การนำเข้ามูลค่า 166,679 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.9% และการค้าเกินดุล 2,351 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่การส่งออกเดือนสิงหาคมขยายตัวเป็นบวกเป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.1% ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ข้าว สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรที่หดตัว เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 5.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 จากสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว เช่น ทองคำ เนื่องจากราคาลดมีผลต่อการนำเข้าสูงขึ้น

ส่วนภาพการส่งออกไปยังตลาดสำคัญยังขยายตัวดี ตลาดหลักขยายตัว 3.2% จากญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 16.7% สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% พลิกกลับมาเป็นบวกจากเดือนก่อนที่ติดลบ 1.9% แต่สหภาพยุโรปพลิกกลับมาติดลบ 4.3% จากเดือนก่อนขยายตัว 9% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 16 เดือนจากการนำเข้าเครื่องบิน และตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 19.2% ได้แก่ อาเซียน ตลาด CLMV ส่วนตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 5.1% เช่น ละตินอเมริกา ออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ผลจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ โดยเฉพาะเหล็ก อะลูมิเนียม แผงโซลาร์เซลล์ และสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจีนลดลง แต่ภาพรวมแล้วการส่งออกของไทยยังดี แต่ก็ต้องดูภาพนโยบายในอนาคตให้เหมาะสมด้วย โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมหารือทูตพาณิชย์เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกในปี 2562


“กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ส่งออกปี 2561จะขยายตัวได้ 9% โดยมีมูลค่า 257,932 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะต้องรักษาระดับการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้ 22,225 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตาม ได้แก่ เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวน รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า”