กยท.เตรียมเจรจาบาร์เตอร์เทรดยางแลกปุ๋ยรัสเซีย

หวั่นราคายางพาราทรุดปลายปี กยท.ส่งไม้ต่อพาณิชย์เจรจาบาร์เตอร์เทรดยางใหม่ 1 แสนตันแลกแม่ปุ๋ยเคมีรัสเซีย พร้อมเร่งเคลียร์โกดังของ กยท.ที่แปดริ้วก่อนขนยางในสต๊อกเก่าที่เช่าโกดังเอกชนในภาคใต้ หวังลดค่าใช้จ่ายกว่า 20 ล้าน/เดือนมาเก็บ พร้อมหาทางออกนำยางเก่าผสมพลาสติกทำหมอนรางรถไฟแทน

จากการที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเจรจาขายยางพาราใหม่ให้กับรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย 1 แสนตัน คาดว่าจะตกลงกันได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ราคายางพาราที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ตกต่ำลงไปกว่า กก.ละ 40 บาท เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนลูกค้าผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดของไทยและของโลกกำลังทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยที่จะส่งยางไปขายให้จีนได้น้อยลงตามมานั้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย ?ประชาชาติธุรกิจ? ถึงความคืบหน้าว่า เพื่อให้การเจรจาขายยางใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดให้รัสเซีย 1 แสนตันสำเร็จโดยเร็วขึ้น กยท.จะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เจรจากับรัฐวิสาหกิจของรัสเซียโดยตรง โดยจะเป็นการเจรจาขายยางพาราใหม่แลกกับการที่ BU ที่เป็นหน่วยธุรกิจของ กยท.ที่ตั้งขึ้นมารับซื้อแม่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นการตอบแทน ซึ่งแม่ปุ๋ยเคมีที่จะซื้อจากรัสเซียจะนำมามิกซ์หรือผสมเพื่อใช้ในสวนยางทั่วประเทศที่เกษตรกรขอเงินสงเคราะห์ในการปลูกยางใหม่แทนยางเก่าที่มีอายุมากปีละนับแสนตัน และปกติ กยท.จะเปิดประมูลรับซื้อปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ทุกปีเพื่อนำไปให้เกษตรกรในรูปของปุ๋ยเคมีส่วนหนึ่งนอกเหนือจากเงินสดอยู่แล้ว

ส่วนยางพาราเก่าในสต๊อกที่ กยท.รับซื้อจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการมูลภัณฑ์กันชนตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และเหลืออยู่ในโกดังที่ภาคใต้ 1.1 แสนตัน เนื่องจากยางลอตนี้ที่นำมาประมูลเป็นลอตสุดท้ายในเดือนมีนาคม 2560 ไม่มีเอกชนประมูลได้เพราะต่ำกว่าราคากลางที่ กยท.ตั้งไว้ ขณะที่ราคายางตกลงอย่างรวดเร็วหลังน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ต้นปี 2560 เอกชนที่มาประมูลซื้อกลัวซื้อมาแล้วขาดทุน กอปรกับเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ คัดค้านไม่ให้ขายมาตลอด กยท.จึงเก็บยางลอตนี้ไว้มาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีสั่งห้ามจำหน่าย แต่เมื่อมีค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าเก็บในโกดังเอกชนกว่าเดือนละ 20 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องหาทางออกโดยจะเร่งเคลียร์โกดังของ กยท.ที่เก็บยางของบริษัทร่วมทุนยางพาราไทยที่ กยท.ลงขันตั้งกับกลุ่ม 5 เสือส่งออกยางขึ้นมาในสมัยนายธีธัช สุขสะอาด เป็นผู้ว่าการ กยท.กลางปี 2560 เร่งนำยางออกไปโดยเร็วเพื่อที่จะนำยางของ กยท.ที่เช่าเก็บไว้ในโกดังเอกชนที่ภาคใต้มาเก็บที่โกดังของ กยท.จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อลดภาระค่าเช่ารายเดือนที่ค่อนข้างสูง

สำหรับทางออกในการแก้ปัญหายางเก่าในสต๊อก 1.1 แสนตัน หลังจาก กยท.และกระทรวงเกษตรฯได้หารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อจะนำยางลอตนี้ไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่มีความคืบหน้า หลังจากผลการวิจัยพบว่ายางราคาแพงกว่าวัตถุดิบอื่นมากและให้ความร้อนต่ำ ขณะเดียวกัน ทางสถาบันวิจัยยางที่สังกัดใน กยท.ได้ปรับแผนใหม่รับมือไว้อีกทางหนึ่ง คือ จะมีการวิจัยนำยางพารามาผสมพลาสติกทำเป็นหมอนรางรถไฟแทน แม้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่หลายประเทศรวมทั้งรัสเซียดำเนินการมาแล้วประสบความสำเร็จดี มีความนิ่มนวลในการเดินรถไฟมากขึ้น ทางโค้งรางรถไฟที่วางหมอนดังกล่าว รถไฟวิ่งผ่านก็ไม่เสียหายแตกหัก คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อีกระยะหนึ่งก่อนสรุปผลต่อไป

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการสอบถามไปยังนายวันชัยวราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในกรณีที่จะมีการบาร์เตอร์เทรด (barter trade) ยางพารา 1 แสนตันของไทยกับแม่ปุ๋ยเคมีของรัสเซีย เรื่องนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศยังไม่ได้รับหนังสือ การประสานงาน หรือติดต่อจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาที่กรมแต่อย่างไร ดังนั้น เรื่องนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะมีการบาร์เตอร์เทรดสินค้าของ 2 ประเทศ จึงไม่สามารถบอกหรือพูดอะไรได้ เบื้องต้นก็ต้องไปติดตามกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลในเรื่องนี้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ดี กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเจรจาหรือมีการบาร์เตอร์เทรด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ดำเนินการเปิดเจรจาซื้อขายยางพาราไปแล้ว


ส่วนการหาทางออกสต๊อกยางเก่า 1.1 แสนตันของ กยท.นั้น ล่าสุดนายกฤษฎา บุญราช ได้สั่งการให้กยท.เข้าหารือกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกครั้ง ในการนำยางเก่าไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงหรือผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ รองเท้ายาง ถุงมือยาง ฉนวนกันไฟฟ้าจากยางพารา ฯลฯ เพื่อหวังเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศและกระตุ้นราคายางในประเทศเพิ่มสูงขึ้น