“อมตะ” เปิดแนวรุกธุรกิจรับอีอีซีปี 62 ลุยหาพันธมิตรมือโปรร่วมลงทุน

“กลุ่มอมตะ” ชูยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า เตรียมรับมือกับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เริ่มเรียกจำนวนนักลงทุนเข้าประเทศเพิ่มต่อเนื่อง หลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ “วิบูลย์” มั่นใจอีอีซีกลไกสร้างจุดเปลี่ยนการเติบโตของประเทศ ยกโมเดลธุรกิจใหม่ ดึงพันธมิตรร่วมลงทุนเน้นให้บริการลูกค้าทุกประเภทที่สร้างผลตอบแทนระยะยาว

วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มอมตะได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยจะเริ่มต้นในปี 2562 ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น จากแผนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีผลต่อภาคการผลิตในประเทศตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล

ทั้งนี้หลังจากอีอีซีได้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในด้านการออกกฎหมายเข้ามากำหนดขอบเขตการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์นับเป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ และสามารถดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)ให้กลับมาลงทุนในประเทศไทยได้อีกครั้ง

ในส่วนของกลุ่มอมตะ ถือว่าด้วยสถานการณ์การลงทุนนับจากนี้ไป เป็นความท้าทายในการทำธุรกิจมากขึ้น จากการที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และนโยบายการเปิดรับนักลงทุน เพื่อให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุน ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสภาวะการแข่งขันอยู่เสมอ

“หลังจากรัฐบาลให้เกิดอีอีซีเป็นทางการ วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของพัฒนาในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจริง คงไม่ได้เห็นได้ทันที เพราะนักลงทุนที่จะเข้ามาต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และเงื่อนไขด้านการลงทุนที่สามารถตอบโจทย์ให้กับการกระบวนการผลิต ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน แต่ก็ต้องยอมรับว่า อีอีซี ถือเป็นแม่เหล็กที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งอมตะสามารถชี้วัดถึงกลุ่มนักลงทุนต่างๆที่เข้าติดต่ออย่างต่อเนื่อง และแสดงความสนใจที่จะเข้ามาใช้พื้นที่อีอีซีเพื่อการลงทุนในอนาคต” นายวิบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อมตะได้กำหนดทิศทางการวางโครงสร้างการเติบโตทางธุรกิจในลักษณะ การทำธุรกิจแบบสร้างสรรค์ หรือ Work smart ที่เน้นการทำธุรกิจใหม่ๆ หรือ New Business Development แต่ยังคงยึดแนวทางให้อมตะ เป็นผู้พัฒนาที่ดินหรือ Land Developer เพื่อหาพื้นที่ ในการรองรับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน ด้วยอาศัยความชำนาญที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 20 ปี และในส่วนธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อมตะ ไม่มีความชำนาญ บริษัทจะเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ ในแต่ละสาขาเช่น การจัดหาระบบสาธารณูปโภค การให้บริการและอำนวยความสะดวกกับลูกค้าในนิคมฯ ซึ่งรูปแบบธุรกิจดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และส่งผลอมตะสามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น