“ธีรพงศ์” MFA Forum SeaChange ความสำเร็จของ TU

ในงาน “MFA CEO Forum” ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป แสดงวิสัยทัศน์ “นวัตกรรมและความยั่งยืนในด้านการประมง” ซึ่งได้ตอกย้ำเป้าหมายการสร้างรายได้ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2020 โดยโฟกัสที่การสร้างนวัตกรรมแปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจเป็นหัวใจสำคัญ ควบคู่กับรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เพิ่มบทบาทนวัตกรรม

นายธีรพงศ์กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อการพัฒนามาก โดยจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ศูนย์นวัตกรรมที่ตั้งขึ้นมาแห่งแรกร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นพัฒนาและวิจัยสินค้าและวิธีการใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีในปัจจุบัน เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับลูกค้าของบริษัท ซึ่งมี 12 ประเทศ 5 ทวีป ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา กลุ่มทวีปออสเตรเลียและเอเชีย ซึ่งจะสร้างการเติบโตและผลกำไรที่ยั่งยืนของเราด้วย โดยปัจจุบันศูนย์นวัตกรรมนี้ มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทั้งหมด 120 คน จากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกถึง 36 คน

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่การทำงาน CSR สำหรับผม แต่เป็นการจัดการอย่างจริงจังในเรื่องทรัพยากรและการประมงที่ถูกต้อง และให้ถูกกฎหมายด้วย ซึ่งมันสำคัญมากต่อธุรกิจ รวมถึงใส่ใจกับการปฏิบัติต่อแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์และการสร้างความแตกต่างให้กับบริษัทในเวทีโลกได้” ซีอีโอไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว

“พันธกิจ” หัวใจธุรกิจ

ในปัจจุบันไทยยูเนี่ยนมีพันธสัญญาร่วมกับองค์กรนานาชาติมากมาย รวมถึงกลุ่ม NGOs ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศด้วย ตัวอย่างเช่น การสร้างความยั่งยืนของ “ปลาทูน่า” ตามนโยบาย “SeaChange” เพื่อให้วัตถุดิบปลาทูน่าที่ใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ของเรา มาจากการจัดหาด้วยวิธีการแบบยั่งยืน 100% ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council : MSC) หรือมาจากโครงการพัฒนาการประมงที่ไทยยูเนี่ยนได้จัดตั้งขึ้น ด้วยมูลค่าลงทุน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งพัฒนาเพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐาน MSC

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับ “กรีนพีซ” ก็เพื่อผลักดันอาหารทะเลที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งการกล่าวคำมั่นสัญญาต่อที่ประชุม World Economic Forum ในนครนิวยอร์ก เรื่องการตรวจสอบย้อนหลังแหล่งที่มาของปลาทูน่า ภายในปี 2020 (Tuna 2020 Traceability Declaration) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ผลลัพธ์นับตั้งแต่ต้นปี 2018 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่จำหน่ายโดยบริษัทไทยยูเนี่ยน มากกว่า 90% มีการระบุแหล่งที่มาของการทำประมงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน MSC  ขณะเดียวกัน ไทยยูเนี่ยนยังสามารถเจรจาเพื่อเพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ 

ซีอีโอไทยยูเนี่ยนยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้บริษัทกำลังสนใจไลน์ธุรกิจ “อาหารสำหรับเด็ก” จากเดิมที่มีการผลิตสินค้าใน 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ปลาทูน่า กุ้ง อาหารสุนัขและแมว แซลมอน ซาร์ดีน และอาหารพร้อมรับประทาน

ผมมองว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเพิ่มความใส่ใจให้มากขึ้น ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักเลือกทานอาหารที่มีรสชาติอร่อย แต่คุณค่าทางโภชนาการอาจจะไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ ที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนเคยจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปในไทย ซึ่งจะเสริมสร้างความรู้ให้กับเด็ก ๆ เช่น เมนูที่ใช้ในการเวิร์กช็อป ได้แก่ ข้าวผัดปลาซาร์ดีน เบอร์เกอร์ปลาทูน่า และเบอร์เกอร์ปลากะพง เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาและเพิ่มการลงทุนสำหรับ “ปลาไขมันต่ำ” เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่รักสุขภาพและต้องการลดน้ำหนัก และคาดว่าจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศยุโรปก่อน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในตลาดอื่น

ปลดล็อกใบเหลืองได้ 

อย่างไรก็ตาม นายธีรพงศ์ระบุว่าประเทศไทยมีการทำการประมงค่อนข้างเยอะ แต่กุญแจที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องเพิ่มพันธกิจกับองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่าสินค้าของเรานั้นสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลของโลก

กรณีที่การประมงไทยถูก “ใบเหลือง” จาก IUU ก็เพราะขาดการป้องกันและยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมที่จริงจัง แต่เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในเอเชียที่อยู่ในลิสต์ เราสามารถปลดล็อกใบเหลืองได้ง่ายกว่ามาก หากเรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขและปรับส่งเสริมการร่วมรับผิดชอบต่อโลกจริง ๆ

ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการรายงาน เพื่อความโปร่งใสมากเป็นอันดับต้น ๆ รวมถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับแรงงานและซัพพลายเชน ดังนั้น การที่เราเข้าร่วมกับพันธสัญญาต่าง ๆ นั้นถือเป็นการยืนยันเพื่อให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ไกลขึ้นในเวทีโลก

ที่ผ่านมา บริษัทมีกิจกรรมมากมายที่สามารถช่วยให้ความรู้ แลกเปลี่ยน หรือถ่ายทอดกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย แต่ความน่ากังวลก็คือ ผู้ประกอบการไทยไม่สนใจและไม่ทำตามคำแนะนำของเรา

“ผมไม่ได้บอกว่า ไทยยูเนี่ยนนั้นมีกลยุทธ์ที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยการแชร์ไอเดีย หรือแนวทางเพื่อให้เป้าหมายทางธุรกิจสำเร็จเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไทยยูเนี่ยนต้องการทำ เราอยากเห็นธุรกิจไทยดังไกลถึงต่างแดนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เจ้าใหญ่ ๆ เท่านั้น” นายธีรพงศ์กล่าว