อรรจน์สิทธิ์ สร้อยทอง ทัพหน้า BOI ที่ฮานอย

สัมภาษณ์

นับเป็นเรื่องใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตัดสินใจเปิดสำนักงานใหม่ที่ฮานอย ถือเป็นสำนักงาน BOI ต่างประเทศแห่งที่ 15 ที่แตกต่างไปจาก สนง.ที่เคยเปิดมาแล้ว กล่าวคือ สนง.นี้จะเข้าไปดูแลนักลงทุนไทยในเวียดนามโดยเฉพาะ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ แก้ปัญหาให้กับนักลงทุนโดยการประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลเวียดนาม ตลอดจนช่วยชี้เป้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะต่อยอดให้กับนักลงทุนไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายอรรจน์สิทธิ์ สร้อยทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนไทยคนแรกของกรุงฮานอย

BOI เปิด สนง.ใหม่

ปีนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ตัดสินใจไปเปิด office ในต่างประเทศใหม่อีก 2 แห่ง คือที่เวียดนามกับอินโดนีเซีย ซึ่ง office ใหม่นี้จะแตกต่างไปจาก office เดิมทั้ง 14 แห่ง ของ BOI ในต่างประเทศ เพราะเดิมสนง.จะมีภารกิจชักจูงให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย แต่เราจะเป็น office ที่ดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม

นโยบายที่ได้รับมอบหมายมาก็คือการ serve นักลงทุนไทยที่เวียดนาม มีทั้งรายเก่ารายใหม่ คำว่า “serve” ในที่นี้อย่างการลงทุนที่มีอยู่ ไม่ได้เข้าไปส่งเสริมหรือไปชักจูงให้เกิดการลงทุนโดยตรงคือ ไม่ใช่ว่าไป put ให้ประเทศไทยออกไปลงทุนต่างประเทศจนหมด แต่เป็นลักษณะนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว เราเข้าไปดูแลให้ ที่ผ่านมานักลงทุนไทยมักจะอ่อนในเรื่องประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมของเราเป็น OEM หรืออยู่ใน supply chain ส่งออกไปเป็นพวก part หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ แต่ในระยะหลังมีความจำเป็นที่ต้องออกไปต่างประเทศ ไปขยายตลาด หรือเรื่อง logistics การเข้าไปใกล้ตลาดมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง การไปแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ-แรงงาน-ต้นทุนราคาถูก หรือการพึ่งพาสิ่งที่เราไม่มี เช่น ที่ดินราคาถูก

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญ คือ สิทธิพิเศษทางภาษี GSP ซึ่งในอนาคตเราแทบจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษนี้แล้ว ทั้งหมดนี้ สำนักงานจะเข้าไปดูแลให้ทั้งนักลงทุนใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ และช่วยแก้ปัญหาให้นักลงทุนเดิม เช่น กฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย เมื่อมีปัญหาที่ unseen เรื่องใหญ่ ๆ ที่ต้องการการประสานกับหน่วยงานรัฐบาลเวียดนาม เป็นต้น

ภารกิจของ สนง.ใหม่

ก็มี 1) การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐของเวียดนามกับภาคเอกชนไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออันดีในการลงทุนระหว่างกัน 2) การไปสร้าง connection กับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อให้ทราบถึงวิธีการ-กฎระเบียบในการเข้าไปลงทุน เมื่อเกิดปัญหากับนักลงทุนไทย เราจะได้เข้าไปแนะนำเพื่อแก้ปัญหาให้ได้

3) ติดตามข่าวสาร-วิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนทั้งเชิงบวก-ลบ สภาพแวดล้อมของการลงทุน และรายงานสถานการณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ ที่ผ่านมางานเหล่านี้ทางท่านทูตดูแลกับสำนักงานพาณิชย์ ตปท.บางส่วนที่เกี่ยวกับการค้า การเข้ามาของ BOI ไม่ได้เป็นแบบ marketing attack แบบหน่วยงานที่เป็น direct นี่คือข้อแตกต่างของสำนักงานเรา

4) การดำเนินการเชิงรุกในการหาเป้าหาโอกาสในการลงทุน “เป้า” ในที่นี้หมายถึงอุตสาหกรรมที่เป็น strategic คือมีความสอดคล้องกับความสามารถของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และการลงทุนนั้นยังช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภายในประเทศไทยแข็งแรงขึ้น เช่น การเป็น supply chain ให้ประเทศไทยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การเป็น supply ให้กับโรงงานในไทยมาต่อยอดการผลิตชิ้นส่วนในไทยแล้วไปตั้งโรงงานประกอบขึ้นในเวียดนาม และ 5) การเข้าไปพบปะดูแลนักลงทุนไทยให้ความช่วยเหลือนักลงทุนไทยที่ประสบปัญหาการลงทุนในเวียดนาม

ทำไมถึงเลือกที่ฮานอย

ที่โฮจิมินห์จะเป็นภาคเอกชน เอกชนรู้อยู่แล้วว่าจะเข้าไปลงทุนอะไร แต่ภาคเอกชน/นักลงทุนไทยเข้าไม่ถึงรัฐบาลเวียดนาม ประกอบกับเวียดนามปกครองแบบระบอบคอมมิวนิสต์ โครงการขนาดใหญ่ของเวียดนามจำเป็นต้องมีความรู้เชิงลึก มีความเข้าใจความเป็นมาทั้งอดีต-ปัจจุบันจึงจะประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุน นี่เป็นสาเหตุหลักที่ต้องตั้งสำนักงานที่นี่ เพราะเราต้องอาศัยการติดต่อกับรัฐบาลเวียดนาม

งานแรกที่จะต้องทำ

เราจะต้องสำรวจก่อนว่าไทยมีการลงทุนในเวียดนามเท่าไหร่ ตอนนี้เราไม่มีรายละเอียด ที่ผ่านมาดูจากสถิติการโอนเงินของแบงก์ชาติ ต้องเข้าไปเก็บข้อมูล ตัวเลขการลงทุนที่มีอยู่มาจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม แต่มีนักลงทุนไทยอีกมากที่เข้าไปลงทุนโดยไม่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เวียดนาม ตรงนี้เราไม่มีข้อมูล จากนั้นก็ต้องไปทำความรู้จักกับหน่วยงานด้านการลงทุนหรือส่งเสริมอุตสาหกรรมของเวียดนาม

อุตฯที่น่าลงทุน

ในความเห็นผมจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องหรืออุตสาหกรรมที่จะใช้วัตถุดิบของเวียดนามในการเพิ่มมูลค่า เช่น การแปรรูปอาหาร/เกษตร เวียดนามมีศักยภาพแต่ไทยมีตลาดอยู่ในมือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล/ชิ้นส่วน พวกอุตสาหกรรม support industry ทั้งหลาย packaging อุตสาหกรรมยา/สุขภาพ การบริการอย่างพวกท่องเที่ยว โดย product ที่ผลิตออกมาจะต้องเหมาะสมกับการขายในอาเซียนด้วย เราควรที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามแทนที่จะปล่อยให้เวียดนามเข้ามาเป็นคู่แข่งไทยในสินค้านั้น ๆ

……………………

ภาพรวมการลงทุนไทยในเวียดนาม

ไทยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติในลำดับที่ 10 จาก 125 ประเทศ มีการลงทุนทั้งสิ้น (2530-2561) 489 โครงการ มูลค่า 9,285 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตร-ประมง การค้า/บริการ โดยมีจำนวนบริษัทไทยประมาณ 110 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ที่โฮจิมินห์-ด่องไน-ลองอาน-บินห์เยือง บริษัทไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ กลุ่ม SCG เข้าไปถือหุ้นร้อยละ 71 ในโครงการ

โรงกลั่นน้ำมัน Long Son มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านเหรียญ ที่บาเหรี่ย-หวุงเต่า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงาน อาทิ กลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์, บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี, กลุ่มกัลฟ์ และบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม Big C ใหญ่เป็นอันดับ 4 มีสาขา 34 สาขา และ MM Mega Mart อันดับ 5 มี 19 สาขา

ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุน ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม/สิ่งทอ, เกษตรแปรรูป, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, พลังงาน/ปิโตรเคมี โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนจะอยู่ฮานอย-โฮจิมินห์-ไทเหงียน-ลองอัน-บิ๊กนิง-ไฮฟง-บินห์เยือง-ด่องไน เพราะมีความพร้อมทั้งท่าเรือ และมีระบบการคมนาคมขนส่ง