วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ‘เบทาโกร’ ต่อยอดนวัตกรรมโปรตีน

เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาปศุสัตว์ไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเซ็กเตอร์หมู ไก่ ไข่ ก็ยังอยู่ในภาวะที่มีความกดดันสูง ทำให้ผู้ผลิตต้องมีปรับกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อฝ่ากระแสความกดดันไปให้ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงนโยบายและทิศทางของเครือเบทาโกร ในโอกาสครบรอบ 51 ปี ตามแผนการลงทุนภาพใหญ่เพื่อผลักดันรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ในปี 2020

ภาพรวมตลาดอาหาร

ธุรกิจการอาหาร เซ็กเตอร์โปรตีนมีอัตราเติบโตลดลง จากที่เคยคาดว่าโต 5% แต่ตอนนี้น่าจะโต 3% จากประมาณการซัพพลายหลายสินค้าเกิดสมดุล เช่น ไก่ค่อนข้างน่าห่วง เพราะเลยจุดสมดุลไปกว่า 10% ปีหน้าก็ยังคิดว่าน่าห่วงและยังเหนื่อยอยู่ เป็นผลจากการผลิตมากไป

แต่ทิศทางเครือเราสนใจเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยวางโพซิชันนิ่งว่าจะเป็นแบรนด์ทางเลือกที่สุดในตลาดทั้งในแง่คุณภาพและความเชื่อมั่น แม้ว่าเราจะไม่ใช่รายใหญ่ที่สุด

โดยมีการสื่อสารถึงผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เพื่อสร้างความรับรู้ ซึ่งผมมองว่าในระยะยาวจะต้องให้ความรู้ผู้บริโภค เพื่อให้รู้ว่ามีทางเลือก และเราพยายามวางบทบาทของเราต่อสังคม โดยพยายามเข้าไปช่วยเหลือให้มีการพัฒนาเรื่องอาหาร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอาหารคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เบทาโกรอยู่มา 50 ปีแล้ว เรารู้ว่าต้องการอยู่เพื่ออะไร ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง แต่อยู่เพื่อช่วยเหลือสังคมรอบตัวให้เติบโตไปพร้อมกับเรา

อย่างไรก็ตาม เรื่องอาหารมีประเด็นมากมาย แต่อาจจะถูกกลไกปัจจุบันที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งหมดเป็นตัวชี้นำ ฉะนั้น กลไกจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้ว่ามีโอกาสจะเข้าถึงอาหารคุณภาพ โดยเฉพาะการจัดการระบบฟาร์มมิ่ง ระบบการผลิต และระบบการจัดจำหน่าย ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ ปัญหาที่มนุษย์กังวลทั้งเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นทางเลือกที่ดีให้ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยากแต่นี่เป็นเป้าหมายใหญ่ของเบทาโกร

สเต็ปต่อไปของเบทาโกร

เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว ก็ต้องกลับมาสังเกตว่าตัวเองมีความพร้อมเพียงใด ณ ปัจจุบัน เรามีโรงงานทั่วประเทศ มีจุดจำหน่ายทั่วประเทศ เราพยายามเข้าถึงแต่ละเซ็กเมนต์ของลูกค้าทีละสเต็ป เช่น ในอดีตเราเข้าถึงเกษตรกร ตอนนี้เริ่มเข้าถึงร้านอาหารรายกลาง รายย่อย รายใหญ่ที่เป็นสถาบัน และเข้าถึงผู้บริโภคผ่านโมเดิร์นเทรด ต้องบริหารซัพพลายเชนให้เป็นระบบ ให้มีการเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากจะจำหน่ายเป็นโปรตีนหมู ไก่ ไข่แล้ว เรายังจะมีการจำหน่ายเป็นอาหารพร้อมทาน (RTE : ready to eat) วันนี้เตรียมตัวเยอะมากว่าจะทำอย่างไรให้ RTE เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยโปรเจ็กต์การลงทุนโรงงาน CK ที่นวนคร กำลังจะเปิดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้านหน้าจะมีศูนย์นวัตกรรมอาหาร (FIC : Food Innovation Center) เป็นกลจักรหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคจะมาจากทีมการตลาด ซึ่งทางเบทาโกรเน้นการทำวิจัยการตลาดมากขึ้น โดยให้ความสนใจเรื่อง mobility ของคนในเมืองใหญ่ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณูปโภคในประเทศทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จึงพยายามวางระบบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น

แผนรุกตลาดอาหารพร้อมทาน

ขณะนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการค้าปลีกทุกราย ซึ่งหันมาให้ความสนใจ เบทาโกรอาจเป็นตัวเลือกของเขา เพราะเราสามารถเข้าไปรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมทานยังไม่มากนัก แต่แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแน่นอนอยู่แล้วเป็นไปตามเทรนด์

ส่วนสินค้าหลักหมู ไก่ ไข่ ก็มีการออกสมาร์ทแพ็กเพื่ออำนวยความสะดวก เฉพาะเซ็กเมนต์หมู ไก่ ไข่ ยังมีทางให้วิ่งอยู่มาก เพราะเทรนด์ผู้บริโภคไม่ได้ทิ้งโปรตีน แต่จะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวมาตรฐานหมูปลอดภัยที่ได้รับการรับรองจาก NSF ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก เราสามารถเป็นผู้นำในด้านนี้ ซึ่งผู้บริโภคได้ประโยชน์

การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะถือเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องเหมาะสม ถูกกฎหมาย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะสัตว์ หรือคนก็มีการเจ็บป่วย และต้องการดูแลสุขภาพอยู่ดี ฉะนั้น กฎระเบียบต่าง ๆ ก็ยังต้องประคองกันอยู่ จะบอกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเป็น 0 เป็นไปไม่ได้ เหมือนโลกนี้ไม่ต้องมีโรงพยาบาลเป็นไปไม่ได้ แต่จะใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

ทิศทางการพัฒนานวัตกรรม

วันนี้เบทาโกรให้ความสนใจกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโปรตีนอย่างมาก โดยมุ่งไปที่การนำเอาโปรตีนมาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราทำงานตรงนี้เยอะ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคอาจได้ข้อมูลเฉพาะในมุมการตลาด แต่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งเราจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องนี้ ต้องวิจัยเยอะขึ้น ส่วนการต่อยอดเชิงพาณิชย์ต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง

อัพเกรดเทคโนโลยี

ปัจจัยเทคโนโลยีดิสรัปชั่นนั้นมีผลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เบทาโกรมองว่าต้องมีการแอปพลายดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำอยู่แล้ว เพื่อให้มาช่วยบริหารจัดการการผลิตปศุสัตว์ เพราะดิจิทัลออกไข่ไม่ได้ เรายังต้องการพ่อแม่พันธุ์อยู่ วันนี้การศึกษาออปชั่นโปรตีนเยอะมาก เราก็ลงทุนด้วย และใช้ในฟังก์ชั่นนอลบางเรื่อง แต่ดิจิทัลเข้ามาทั้งระบบ เรามี IOT คลาวด์ และที่ผ่านมาเบทาโกรได้ลงทุนระบบ ERP (enterprise resource planning) ไป 75-80% แล้ว คาดว่ากลางปีหน้าจะสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการค้นพบใหม่ เทรนด์ก็ต้องปรับตัวไปสู่เรื่อง 4.0 แต่ how to react ต่างกันในแต่ละธุรกิจ ทั้งแบงก์ ปศุสัตว์ผลจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ซึ่งผมจะลงทุนในระดับที่รู้ว่า เบทาโกรต้องการอะไร และมันจะมาช่วยให้แข่งขันได้มากขึ้นหรือไม่ ตอนนี้มีฟินเทค บล็อกเชนก็น่าสนใจ พื้นฐานเลยคือจะทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนดีขึ้น ฉลาดขึ้น อาศัย IOT ได้หมด แต่คำถามใหญ่สุด คือ ถ้าจะลงทุน คิดถึงผู้บริโภคด้วยว่าจ่ายไหวไหม

ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น

ทุกอย่างมีเซ็กเมนต์ โครงสร้างในการจัดจำหน่าย เช่น หากเดินพารากอนจะซื้อหมูถูกกว่าตลาดคงไม่ได้ ผมเชื่อว่าแฟร์ คือ เราไม่ได้ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค เราต้องเข้าใจว่า ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ และมีความต้องการไม่เท่ากัน หลักการผมไม่ได้เอา S-Pure ไปขายตลาดสด แต่ถ้าหมูเบทาโกรไปขายตลาดสดก็ต้องราคา 80-90 บาทเท่ากัน ส่วนหมูที่พารากอน 300-400 บาท แต่ไม่ได้หมายถึงคนรายได้น้อยต้องกินของไม่ดี คุณมีทางเลือกหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญ วันนี้เราต้องการให้มองว่า สินค้าเบทาโกรก็เหมือนกัน และเขาเลือกเราถึงจะเป็นหมูเบทาโกรขายตลาดสดก็ต้องมาตรฐาน 100%