ในที่สุดการเปิดประมูลเพื่อยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลงที่ G1/61 กับ G2/61 หรือแหล่งเอราวัณ-บงกชในระบบสัมปทานเดิมก็ได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนการเปิดรับคำขอเพื่อขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นมาก่อนหน้านี้ (เดือนพฤษภาคม 2561) จึงจะมีสิทธิเข้ายื่นเอกสารจำนวน 4 ซอง ประกอบด้วย
ซองที่ 1 เอกสารคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านเทคนิค และ ซองที่ 4 ข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย เพื่อให้คณะอนุกรรมการการพิจารณาการให้สิทธิฯพิจารณา และจะเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาให้คะแนนนั้น
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ได้กำหนดน้ำหนักข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐ ในราคาที่ “ต่ำกว่า” ราคาตลาด ส่วนนี้ให้น้ำหนักถึง 65% ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ ไม่ต่ำกว่า 50% ของปริมาณการผลิต กำหนดน้ำหนักไว้ที่ 25% ข้อเสนอผลตอบแทนพิเศษให้รัฐ เช่น bonus การผลิต มีน้ำหนัก 5% และข้อเสนอในการจ้างคนไทยเข้าทำงานปีแรก ไม่ต่ำกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 5 ปี มีน้ำหนักของการให้คะแนน 5%
อย่าลืมว่าการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งนี้ เป็นการเปิดประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (production sharing contract หรือ PSC) เป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย หลังจากที่ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้มีความ “ยืดหยุ่น” ในการบริหารจัดการด้วยการเพิ่มระบบใหม่ ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับระบบสัญญาจ้างผลิต (service contract หรือ SC) นอกเหนือไปจากการให้ “สัมปทาน” ในระบบเดิม
ไร้บริษัทหน้าใหม่
หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการเปิดให้ยื่นคำขอ ปรากฏมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายเท่านั้นที่เข้ามายื่นซอง ได้แก่ แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณเดิม) 1) บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ (PTTEP Energy Development Company Limited) ร่วมกับบริษัทเอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) (MP G2 (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมูบาดาลา ปิโตรเลียม) กับ 2) บริษัทเชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง (Chevron Thailand Holdings Ltd) ร่วมกับบริษัทมิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด (Mitsui Oil Exploration Company Ltd) ส่วนแปลง G2/61 (แหล่งบงกชเดิม) มีผู้เข้ามายื่น 1) บริษัท ปตท.สผ.ฯ กับ 2) บริษัทเชฟรอนฯ ร่วมกับบริษัทมิตซุยออยล์ฯ
โดยมีข้อน่าสังเกตว่า การเปิดประมูลในระบบ PSC ครั้งนี้ “ไม่มี” ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามายื่นประมูลเลย เฉพาะกรณีของบริษัท MP2 G2 นั้น แม้จะเป็นหน้าใหม่ในอ่าวไทย แต่ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะ “แกนหลัก” เนื่องจากเข้าร่วมในฐานะ “พันธมิตร” กับ ปตท.สผ. ในสัดส่วนหุ้นแค่ 40% เท่านั้น
ขณะที่วงการปิโตรเลียมมีความเห็นว่า การเปิดประมูลครั้งนี้เกิดการแข่งขันกันเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่ม ปตท. กับกลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งสัมปทานเดิม โดยที่ไม่มี “บุคคลที่ 3” เข้ามาแข่งขัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจาก
1) พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับปรับปรุงแก้ไข ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่ม “ทางเลือก” นอกเหนือไปจากระบบสัมปทานเดิมเข้ามา คือ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับระบบจ้างผลิต (SC) ตามความกดดันของกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคพลังงาน
แต่กระนั้นก็ยัง “ซ่อน” เงื่อนไขไว้ว่า แปลงใดจะใช้ระบบ PSC ได้นั้นจะต้องพิจารณาจากสิ่งที่เรียกกันว่า ปัจจัยเรื่องโอกาสในการพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดไว้ที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 39 (กว่าค่าเฉลี่ยให้กลับไปใช้ระบบสัมปทานตามเดิม) ปรากฏทั้งประเทศไทยมีเพียงแหล่งบงกช-เอราวัณเท่านั้นที่มีค่าเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 39 จึงถูกกำหนดให้ใช้ระบบ PSC ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ “มากกว่า” ระบบสัมปทานแบบเดิม
2) ข้อกำหนดในเรื่องของคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ประกอบกับเงื่อนไขหลัก อาทิ ปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 700-800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เป็นเวลา 10 ปี ราคาขายก๊าซต้อง “ไม่สูง” ไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน และสัดส่วนการแบ่งกำไรให้รัฐต้อง “ไม่ต่ำ” กว่า 50%
3) ทุกคนรู้ดีว่า ปริมาณก๊าซในแหล่งบงกช-เอราวัณจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง และหมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า
“เหตุผลทั้ง 3 ข้อได้กลายมาเป็นข้อจำกัด ให้เหลือผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งเดิม ไม่มีรายใหม่เข้ามาแข่งขัน จากข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งบงกช-เอราวัณเป็นเพียงแหล่งก๊าซสำคัญในอ่าวไทย (2,110 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย) ไม่ใช่แหล่งใหญ่ระดับโลก แถมปริมาณก๊าซก็กำลังจะหมดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการลงทุนสำรวจและผลิตใหม่จึงไม่คุ้มกับผู้ประกอบการรายใหม่ และยิ่งไม่คุ้มกับการแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐในระบบ PSC ด้วย”
หากมองอีกมุมหนึ่งอาจจะกลายเป็นว่า ไทยเสียโอกาสในการเสนอราคาที่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายที่ 3 (ซึ่งเดิมคาดหวังกันไว้ว่าจะเป็น บริษัทโททาล (Total E&P Thailand) แต่ก็ถอนตัวไปในที่สุด)
ปตท.สผ.แพ้ไม่ได้
การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของผู้รับสัมปทานรายเก่า ซึ่งก็จะมี “ต้นทุน” ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปตท.สผ. เนื่องจากก่อนหน้านี้ (เดือนมกราคม 2561) ปตท.สผ.ได้เข้าไปซื้อสัดส่วนการลงทุนในแหล่งบงกชเดิม (สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดอายุลงไม่เกินปี 2566) จากบริษัท Shell Integrated Gas Thailand กับบริษัท Thai Energy (บริษัทย่อยของเชลล์) สัดส่วน 22.2222% ในวงเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ (24,000 ล้านบาท) เพื่อถือครองสัดส่วนลงทุนเจ้าของแหล่งใหญ่ (66.6667%)
ประกอบกับยอดขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช ยังคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของยอดขายรวมของ ปตท.สผ.ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจกับคำกล่าวว่า “ปตท.สผ.ต้องชนะในแปลง G2/61” ของ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปตท.สผ. ที่พร้อมจะทุ่มเทเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองแหล่งบงกชเดิม
ขณะที่บริษัทเชฟรอนเจ้าของแหล่งสัมปทานเอราวัณเดิม (แปลง G1/61) ที่ยังทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ พร้อมกับบริษัทมิตซุยออยล์ฯ (ถือหุ้นอยู่ในแหล่งเอราวัณ รองจากเชฟรอน) ก็จะต้อง “ระมัดระวัง” ปตท.สผ.ที่ “ข้ามห้วย” พร้อมกับพ่วงพันธมิตรเงินหนาอย่าง “MP G2-มูบาดาลา ปิโตรเลียม” มาแย่งชิงแปลงนี้ด้วย
กลายเป็นศึกแย่งชิงแหล่งก๊าซธรรมชาติดั้งเดิมระหว่าง “ปตท.-เชฟรอน” โดยไร้เงาของคู่เปรียบต่างในฐานะบริษัทที่ 3