ทุนจีนซุ่มขอBOI”สมาร์ทซิตี้”2พันไร่ ทุ่มหมื่นล้านปั้นไทยเทียบชั้นซิลิคอนวัลเลย์เอเชีย

ทุนจีน “คิงไวกรุ๊ป” ยื่นขอส่งเสริมลงทุนสมาร์ทซิตี้ 2 พันไร่ “คลองหลวงแพ่ง” ทุ่มหมื่นล้านปั้นไทยเทียบชั้นซิลิคอนวัลเลย์เอเชีย เผยสมาร์ทซิตี้ฮอตจัดไทย-เทศขอแจมเพียบ ด้านกระทรวงดีอี แจ้งเกิด “IoT SMART City” ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่ศรีราชา 8 โปรเจ็กต์ 1.7 หมื่นล้าน

นายเฮนรี่ ชาน รองประธานกรรมการ บริษัท คิง ไว กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้เสนอแผนการลงทุนเมืองอัจฉริยะ (smart city) ต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยลงทุนเอง 100% บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ต.คลองหลวงแพ่ง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา งบฯเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับการพิจารณาจากกรรมการอีอีซีภายใน 4-5 เดือนนี้ และสร้างครบ 4 เฟสใน 5 ปี

“เหตุผลที่เลือกซื้อที่ดินบริเวณ ต.คลองหลวงแพ่ง เพราะมีศักยภาพสูง เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา อีกฝั่ง คือ จ.สมุทรปราการ เป็นตะเข็บชายแดนกรุงเทพฯ สะดวกในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง”

แผนการลงทุน เบื้องต้นต้องปรับสภาพที่ดินเดิมซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรและที่ดินว่างเปล่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวมเป็นแปลงใหญ่ เพื่อวางแผนก่อสร้าง แบ่งเป็น 3-4 เฟส รายละเอียดทั้งหมดอยู่ในแผนที่เสนอ EEC หากได้ข้อสรุปจะกำหนดโซนสีที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง เฟสแรกเป็นพื้นที่สำหรับพักอาศัย wellness center บนพื้นที่ 300-400 ไร่ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุก่อน โดยดีไซน์เป็นธีมปาร์ค วางแนวคิดเป็นตลาดน้ำ ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

“ตอนนี้ดีไซน์ไปหลาย ๆ โซนแล้ว โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายของคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย นอกจากนี้จะหารือกับองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และคนพื้นที่ว่าอยากให้เป็นแบบไหน อย่างโซนที่มีอารมณ์เหมือนตลาดน้ำ จะซัพพอร์ตชาวบ้านโดยจ้างงานคในพื้นที่ด้วย โซนแรกที่จะทำจะเป็นเวลเนสเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่วนการดำเนินการเตรียมพร้อมในพื้นที่ ขณะนี้ทางบริษัทและบริษัทที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบกับประชาชนในตำบล อบต. ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก”

เทียบชั้นซิลิคอนวัลเลย์เอเชีย

นายเฮนรี่กล่าวว่า แม้บริษัทเพิ่งจะเข้ามาพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย แต่คิง ไว กรุ๊ป ไม่ใช่มือใหม่ เพราะเคยพัฒนาสมาร์ทซิตี้ขึ้นที่เมืองเป่าซาน และเมืองหงเฉียว มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แต่แผนการลงทุนในไทยครั้งนี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าในจีน และได้ถอดโมเดลชุมชนสตาร์ตอัพจากจีนมาไว้ที่เมืองไทยด้วย โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาเมือง EEC ให้เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ของเอเชีย

“สมาร์ทซิตี้ที่เป่าซานมี 9 เฟส แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เช่น มอลล์ เรสซิเด้น ที่สำคัญมีการแบ่งพื้นที่โซนสตาร์ตอัพ เราไม่ได้สร้างแค่ตึก แต่สิ่งที่พยายามจะสร้างจะต่างกับผู้ลงทุนรายอื่น ๆ เราจะสร้างคอมมิวนิตี้ สร้างเป็นโซนแซนด์บอกซ์ มองความต้องการคนเป็นหลัก อยากให้คนยุคใหม่ที่มีไอเดียเข้ามาอยู่ สร้างชุมชนสตาร์ตอัพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ชุมชนจริง ๆ เรามีฐานสตาร์ตอัพจีนอยู่ในมือ 200-300 ราย จึงอยากนำเอาโมเดลนั้นมาต่อยอดในประเทศไทย และรองรับมหาวิทยาลัยด้วย โดยเชื่อมโยงสตาร์ตอัพไทย จะสร้างความร่วมมือกับ 12 มหาวิทยาลัย โดยผ่าน Bauhinia Valley ของเราในประเทศจีน”

จีน-ญี่ปุ่นแจมลงทุนสมาร์ทซิตี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจีน และญี่ปุ่น สนใจและเริ่มเข้ามาหารือถึงแนวทางการลงทุน smart city หลายราย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติในหลักการให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ (Digital Park Thailand) หรือเมืองใหม่ตามหลักของเมืองอัจฉริยะ smart city แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะมีการกำหนดรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) ก่อนเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุน

“ตอนนี้ก็มีคนสนใจ แต่เรายังไม่เห็นใครยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามา และหลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เข้ามาดูเรื่องพื้นที่ใหม่ของเอกชนที่จะทำเป็น smart city เมื่อเปิด TOR จะได้เห็นนักลงทุนว่าเป็นใคร”

ชงเคาะสิทธิประโยชน์สมาร์ทซิตี้

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้เสนอแผนงาน IOT Smart City บนพื้นที่ 1,000 ตร.กม. ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่จะเป็นศูนย์รวมการลงทุนและสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลของภูมิภาค

โดยโครงการนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาความ smart ให้กับระบบการขนส่ง พลังงานทดแทน แอปพลิเคชั่น สุขภาพ เป็นต้น จะเกิดประโยชน์ในส่วนของค่าใช้บริการ IOT ที่ลดลง 30% เกิดโครงข่ายสัญญาณ 5G มีระบบเตือนภัยดิน ฟ้า อากาศ มลพิษ ขยะ สามารถลดต้นทุนโครงสร้างโทรคมนาคมลง 8,500-13,000 ล้านบาท และดึงดูดบริษัทดิจิทัลระดับโลกเข้ามาลงทุน

“Digital Park Thailand จะเป็นต้นแบบ smart city ของรัฐ ส่วนพื้นที่ของเอกชนตอนนี้มีของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกับทางโยโกฮามา ส่วนรายอื่นยังไม่เห็นชัดเจน”

ทั้งนี้ smart city จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่เดิม หากมีการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งใน 6 ด้าน คือ ด้านคมนาคมขนส่ง (smart mobility) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (smart people) ด้านความปลอดภัย (smart living) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (smart economy) ด้านบริการจากภาครัฐ (smart governance) และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (smart energy & environment) จะได้รับการส่งเสริมตามมาตรการของบีโอไอ แต่ถ้าเป็นส่วนพื้นที่ใหม่ ต้องพัฒนาทั้ง 6 ด้านให้ครบถ้วน จึงได้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน ทั้งหมดนี้จะเสนอบอร์ด EEC ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน วันที่ 4 ต.ค.นี้

TUS อยากเหมายกตึก

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่สถาบันไอโอที ที่อยู่ในโครงการดิจิทัลพาร์ค ศรีราชา ซึ่งดีป้าดูแลอยู่ มีเอกชนหลายรายสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจากประเทศจีน “TUS Holding” ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว ที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบริษัทในเครือกว่า 300 แห่ง แสดงความจำนงจะลงทุนในพื้นที่ IOT ทั้งหมด 40,000 ตร.ม. แต่เนื่องจากโครงการนี้ต้องให้มีความหลากหลายด้านนวัตกรรมและกลุ่มทุน

“ดีป้ากำลังจะโรดโชว์ไปดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น พ.ย.นี้ หลังจากได้หารือกับกลุ่มไอโอที คอนซอร์เตี้ยมจากญี่ปุ่นแล้ว จึงอาจจะเจรจาให้ TUS ใช้พื้นที่แค่ 10,000 ตร.ม. ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งให้กับทุนจากญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ซึ่งกำลังเจรจากับทางซิสโก้ ซีสเต็มส์ ซึ่งเป็นรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและมีแผนจะย้ายศูนย์ R&D จากกรุงเทพฯด้วย แต่ทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับข้อเสนอจาก BOI ด้วยว่า น่าสนใจแค่ไหน ส่วนทางหัวเว่ยจากจีนคงไม่เข้ามาลงทุนในโครงการ IOT แต่จะเข้ามาลงทุนโครงการทดสอบ 5G ในพื้นที่ดิจิทัลพาร์คแทน”