สถาบันอัญมณีฯ เผยแนวโน้มส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโค้งสุดท้ายยังสดใส ประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจฟื้นตัว

ภาพ Pixabay

สถาบันอัญมณีฯ เผย แนวโน้มส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โค้งสุดท้ายยังสดใส เนื่องจากประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจฟื้นตัว เผย 8 เดือน มีมูลค่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.19% เหตุตลาดสวิสเซอร์แลนด์ลดมากถึง 48.49% จากการส่งออกทองคำลด 52.56%

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่อประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2561 นี้ คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยมีการฟื้นตัวขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อมากขึ้น และมีความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังมีการเร่งนำเข้าไปเก็บสต๊อกเพื่อใช้สำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี ทั้งคริสมาสต์และปีใหม่ ทำให้มีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยสิ่งผู้ประกอบการจะต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่จะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และกระทบต่อขีดความสามารถในการส่งออกของไทยได้ จึงต้องบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม และต้องติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อที่จะได้วางแผนผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการ เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่นิยมค้นหาสินค้าทางอินเทอร์เน็ต อ่านรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ และสั่งซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงควรให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์

สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 7,893.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.19% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 250,839.82 ล้านบาท ลดลง 13.43% แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก จะมีมูลค่า 4,855.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.83% และเป็นเงินบาทมูลค่า 154,311.30 ล้านบาท ลดลง 0.58%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า เครื่องประดับทอง เพิ่ม 10.57% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 3.60% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 2.51% ส่วนเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น5.94% , 1.98% และ 7.77% ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก พบว่า กัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 มีอัตราการเติบโตสูงสุด 138.44% จากการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ สหรัฐฯ ตลาดอันดับ 4 เพิ่ม 13.67% จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง รวมถึงพลอยเนื้อแข็ง เพชร และเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้น เยอรมนี ตลาดอันดับ 5 เพิ่ม 23.95% จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเป็นหลัก ส่วนตลาดอันดับ 1 และ 2 คือ สวิสเซอร์แลนด์และฮ่องกง ลดลง 48.49% และ 7.61% โดยสวิสเซอร์แลนด์มีการส่งออกทองคำ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 85% ของการส่งออกลดลง 52.56% แต่เครื่องประดับทอง พลอย ยังเพิ่มขึ้น 7.14% และ 5.27% ขณะที่ฮ่องกง เป็นการลดลงจากการส่งออกเครื่องประดับทอง พลอย และเครื่องประดับเงินลดลง 4.55% , 1.65% และ 42.83% แต่เพชร สูงขึ้น 1.71%

ขณะที่ตลาดอื่นๆ สหภาพยุโรป เพิ่ม 11.30% มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเพชร ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรป ตะวันออกกลาง เพิ่ม 14.47% จากการส่งออกเครื่องประดับทอง ที่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และคูเวต อินเดีย เพิ่ม 14.10% จากการส่งออกเพชรได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องประดับทอง จีน เพิ่ม 13.96% จากความนิยมซื้อเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ


ส่วนญี่ปุ่น เพิ่ม 3.79% มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับเงิน อาเซียน เพิ่ม 12.40% จากการส่งออกไปสิงคโปร์และเวียดนามเพิ่มขึ้น รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เพิ่ม 24.14% จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น โดยเป็นเครื่องประดับที่เรียกว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก